ปลาหมึกพอลพยากรณ์เศรษฐกิจไทย: เคลื่อนไหวด้วยหนวดเส้นเดียว

|

This page in:

 

Image courtesy of Caitfoto through a Creative Commons license
(Originally posted in English) หลังจากที่คณะผู้จัดทำรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกได้รับความช่วยเหลือจากทั้งหมอดูลายมือเขมรและหมอดูกระดองเต่าผู้โด่งดัง ให้สามารถจัดทำตัวเลขประมาณการด้านเศรษฐกิจของไทยในปี 2553 ให้เสร็จสมบูรณ์ไปแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา    ทีมงานของเราก็แอบไปได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับหมอดูแม่น ๆ คนใหม่ที่โลกทั้งใบต้องตื่นตะลึงในความถูกต้องแม่นยำของเขา  ผมจึงต้องตาลีตาเหลือกไปจ้างหมอดูท่านนี้มาเป็นที่ปรึกษาเป็นการด่วน ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเลขประมาณการด้านเศรษฐกิจที่ธนาคารโลกจะนำออกเผยแพร่แก่สาธารณชนในเดือนมิถุนายนนั้นใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด ไม่อย่างนั้นเสียชื่อนักเศรษฐศาสตร์ฟันธงหมด

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเรากำลังพูดถึงศาสตราจารย์นูริเอล รูบินี่ ที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ของอเมริกาขนานนามว่า “ด็อกเตอร์ดูม”   อันนี้ผมต้องขอโทษแทนทีมงานของเราด้วยที่ทำให้ท่านผิดหวัง    เนื่องจากเราสู้ค่าตัวท่านไม่ไหว แต่เราเชื่อว่ากิตติศัพท์ของหมอดูแม่น ๆ คนใหม่ที่เราวิ่งไปปรึกษานั้นคงจะสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ทีมงานของเรามิใช่น้อย   เพราะหมอดูคน (หรือตัว) ดังกล่าวคือ....แถ่น แทน แท้น.....ปลาหมึกพอลผู้ลือเลื่องนั่นเอง        (ซึ่งตอนนี้กลายเป็นปลาหมึกพอลผู้น่าสงสารไปแล้ว เพราะต้องคอยหลบหนีแฟนบอลเยอรมันอย่างหัวซุกหัวซนเพื่อปกป้องตัวเองจากการเป็นปลาหมึกย่างแกล้มเบียร์)    ที่สำคัญ   ค่าตัวหมอดูท่านนี้จัดว่าถูกมากเมื่อเทียบกับความสามารถในการทำนายของท่าน   คุยกันตั้งสองสามชั่วโมงท่านคิดค่าบริการเป็นกุ้งสด ๆ ห้าตัวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนกับผลประโยชน์ที่ได้รับตามหลัก cost-benefit analysis ของเศรษฐศาสตร์แล้วก็นับว่าคุ้มค่าจริง ๆ         

 

หลังจากแหวกว่ายคลื่นลมในมหาสมุทรมาขึ้นฝั่ง ณ สถานที่นัดพบลับของเรา พอลผู้หยั่งรู้ดินฟ้าก็สะบัดหนวดทั้งแปดเส้นของท่านไปมาก่อนจะเปรยว่า ที่ท่านสามารถเคลื่อนไหวในสายน้ำได้อย่างรวดเร็วราบรื่นมาถึงที่นัดหมายได้ตรงเวลานั้นก็เพราะหนวดทั้งแปดของท่านยังใช้งานได้ดีอยู่ ไม่เหมือนเศรษฐกิจไทยที่ดูเหมือนจะกำลังอาศัยหนวด เอ๊ย ปัจจัยเพียงอย่างเดียวเป็นแรงขับเคลื่อน นั่นก็คือการส่งออก   

“ถ้าเปรียบตัวข้าพเจ้าเป็นเศรษฐกิจไทย การส่งออกก็เป็นหนวดเส้นหนึ่งในแปดเส้นที่ข้าฯ ใช้แหวกว่าย ตราบใดที่ชาวต่างชาติยังซื้อสินค้าจากไทยอยู่ หนวดเส้นนี้ก็ยังมีแรงเคลื่อนไหว” พอลอธิบาย   “แต่อย่าลืมว่าหนวดอีกเจ็ดเส้นที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร การก่อสร้าง การค้าปลีก และส่วนต่าง ๆ ของภาคบริการที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศนั้นยังอ่อนแออยู่ แล้วมันก็ไม่ได้เพิ่งจะมาเป็นด้วย   แต่เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 แล้ว”

ผมพยักหน้าเห็นด้วย ภาคการผลิตและบริการโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งเป็นภาคส่วนที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักนั้น เฟื่องฟูมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 อย่างที่พอลผู้หยั่งรู้ฟ้าดินท่านว่าไว้จริง ๆ เสียด้วย   แต่ภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับความต้องการในประเทศนั้นไม่ได้เติบโตงอกงามเท่า ๆ กับสองภาคนี้เลย   สถิติของทางการไทยในปี 2552 ชี้ให้เห็นว่า   สัดส่วนของภาคบริการต่อจีดีพีนั้นหดตัวลงอย่างน่าใจหายเมื่อเทียบกับสิบปีก่อนหน้านี้   ขณะที่เมื่อไปดูในช่วงเวลาเดียวกันในประเทศจีน ซึ่งไม่มีใครเถียงได้เลยว่าไม่ได้เป็นเจ้าแห่งการผลิตเพื่อการส่งออกของแห่งเอเชีย เรากลับพบว่าสัดส่วนของภาคบริการต่อจีดีพีในจีนนั้นก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะไม่ใช่การเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดก็ตาม 

ก่อนที่ผู้น้อยอย่างผมจะพูดอะไรต่อไป   ปลาหมึกพอลผู้หยั่งรู้ก็พรมหนวดเส้นหนึ่งของท่านไปบนแป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วแบบกันน้ำที่ท่านหิ้วติดมาด้วย แล้วเปิดไฟล์ที่ท่านดาวน์โหลดเก็บไว้ให้ผมดู   ไฟล์ที่ว่านั้นประกอบไปด้วยสถิติที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคำอธิบายว่าเพราะอะไรเศรษฐกิจไทยจึงขับเคลื่อนอยู่ได้ด้วยหนวด เอ๊ย ปัจจัยขับเคลื่อนเดียว

แม้ว่าภาคการผลิตของไทยจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ปี 2543 (ที่ค่าเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 6.4)  แต่สัดส่วนของแรงงานในภาคนี้ต่อแรงงานทั้งหมดก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 14 เหมือนเมื่อสิบปีที่แล้ว การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ และความสามารถในการผลิตของแรงงานที่เพิ่มขึ้นนั้นทำให้ผลผลิตที่ได้มากขึ้นก็จริง แต่มันไม่ได้ช่วยหล่อหลอมแรงงานไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่ม   ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับนานาประเทศและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

“ถ้าหากข้าพเจ้าใช้แต่หนวดเส้นเดียวในการว่ายน้ำ   หนวดที่เหลืออีกเจ็ดเส้นก็จะง่อยเปลี้ยได้ในอนาคตเพราะขาดการออกกำลัง” พอลกล่าว และยังบอกอีกว่าหากผมต้องการที่จะหยั่งรู้ให้ได้ว่า หนวดเส้นเดียวที่ประเทศไทยใช้อยู่นั้นจะมีแรงขับเคลื่อนต่อไปในภายภาคหน้าหรือไม่   ผมก็ต้องไปดูว่ามีสถานการณ์ใดบ้างที่จะทำให้ชาวต่างชาติเลิกหรือซื้อสินค้าจากไทยน้อยลง

ก่อนที่ผมจะอ้าปากถามคำถามต่อไป พอลผู้หยั่งรู้ก็ใช้หนวดอีกเส้นหนึ่งดึงเอาสัญญาว่าจ้างระหว่างท่านกับธนาคารโลกออกจากกระเป๋ามาแสดง    น่าเสียดายที่สัญญาฉบับดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะคำทำนายเกี่ยวกับประเทศไทย   พอลจึงไม่สามารถที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับแนวโน้มอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกได้   ผมจึงต้องเก็บความสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของเอเชียตะวันออกที่จะชดเชยความต้องการสินค้าไทยแทนความต้องการจากนอกภูมิภาคที่อาจจะขาดหายไปได้ในอนาคต   รวมทั้งคำถามที่ว่าฤาวิกฤตการเงินในยุโรปจะส่งผลให้โลกต้องเผชิญกับหายนะระลอกสองไว้ในใจ

เมื่อไม่สามารถจะคาดคั้นผู้รู้อย่างพอลให้ตอบคำถามของผมได้   ผมจึงต้องคิดอยู่คนเดียวเงียบ ๆ ในขณะที่เพื่อนร่วมวงสนทนาของผมกำลังเอร็ดอร่อยกับกุ้งสดทั้งห้าตัวที่ธนาคารโลกหามาเป็นค่าจ้าง     ในระหว่างที่เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกค่อย ๆ ฟื้นตัวในปีที่ผ่านมานั้น การส่งออกของภูมิภาคนี้ขยายตัวในอัตราที่สูงมาก   แต่เราก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะประเทศผู้ส่งออกต่าง ๆ ในภูมิภาคกำลังเร่งจัดหาสินค้าคงคลัง (หมายถึงสินค้าหรือวัสดุต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตมีเก็บไว้เพื่อใช้ในการผลิต) มาเพิ่มเติม   ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือไม่   

เมื่อความคิดของผมล่องลอยไปยังยุโรป   ผมก็อดคิดถึงวิกฤตการคลังในประเทศกรีซขึ้นมาไม่ได้ มาถึงตรงนี้ แม้สัญญาของพอลผู้หยั่งรู้จะครอบคลุมแค่ประเทศไทย   แต่ท่านก็กรุณาออกความเห็นเหมือนจะอ่านใจผมได้ว่า ความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะในกรีซนั้นน่าจะสูงเอาการอยู่    เห็นได้จากราคาซื้อขายพันธบัตรของกรีซ ณ ปัจจุบัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่านักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนในสัดส่วนสูงถึง 60-70 เซ็นต์ต่อหนึ่งยูโรทีเดียว มาถึงตรงนี้ พอลผู้หยั่งรู้ก็ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันเล็กน้อยก่อนที่จะเปรยว่า การปรับโครงสร้างหนี้นั้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกินไม่ได้นอนไม่หลับเหมือนกันทั้งสิ้น    (ตรงนี้สายของเราแอบกระซิบว่าอย่าไปสะกิดแผลของท่านทีเดียว   เพราะท่านมีประสบการณ์อันขมขื่นมาแล้วจากการซื้อพันธบัตรของอาร์เจนติน่าเมื่อเกือบสิบปีก่อน   ผมเลยไม่กล้าถามต่อ) 

“แล้วผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองล่ะครับท่าน” ผมเปลี่ยนเรื่อง   ผู้หยั่งรู้ของเราตอบอย่างสุขุมว่า ข้อดีของการพึ่งพาหนวดที่ชื่อว่าการส่งออกเพียงเส้นเดียวในการว่ายน้ำก็คือ   หากใครมาเหยียบหนวดเส้นอื่น ๆ ที่ยังหลับไหลอยู่ ท่านก็ยังสามารถว่ายแหวกมหาสมุทรต่อไปได้โดยไม่ลำบาก   ต่อให้หนวดที่เหลือของท่านจะบาดเจ็บขนาดไหนก็ตาม

“ถ้าโลกไม่ต้องเผชิญหายนะรอบที่สองในปีนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะแล่นได้ฉิวอยู่  อย่ากระนั้นเลย...โอม....มะงุมมะงำส้มตำไก่ย่าง....ด้วยความแม่นยำเทียบเท่ากับที่ข้าพเจ้าสามารถทำได้ในการทำนายผลฟุตบอลโลกเมื่อสองเดือนที่แล้ว    ข้าพเจ้าขอทำนายว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 6.1....โอม....มะโรงมะเส็งมะเมียมะแม.....ขอให้คำทำนายของข้าฯ เป็นจริงด้วยเถิด....”

ก่อนที่ผู้อ่านจะลุกขึ้นมาดีอกดีใจกับตัวเลขคาดการณ์ที่ผู้หยั่งรู้ของเราประกาศ   พี่พอลก็รีบกล่าวเตือนว่า อย่าเพิ่งสรุปเชียวว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีดีพีไทยในปีนี้แปลว่ามรสุมการเมืองที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดใจในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษา-พฤษภาที่ผ่านมานั้นจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ      แม้ภาคการผลิตจะเติบโตเกินความคาดหมายในปีนี้   แต่อย่าลืมว่าแรงงานในภาคผลิตเป็นสัดส่วนแค่ร้อยละ 14  เท่านั้นของแรงงานทั้งหมด   เท่ากับว่าแรงงานที่อยู่ในภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่เหลือ รวมทั้งภาคบริการ   ซึ่งต้องพึ่งพาความต้องการในประเทศและความมั่นใจของนักลงทุนนั้นมีจำนวนมากกว่า    อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเองก็ได้รับผลกระทบเข้าไปเต็ม ๆ จากการประท้วงที่ผ่านมา    แม้สัดส่วนของการท่องเที่ยวต่อจีดีพีซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8 นั้นจะดูเหมือนเป็นสัดส่วนที่ต่ำ    แต่หนวดเส้นที่ชื่อภาคบริการโดยรวมนั้นก็เป็นหนวดเส้นที่ใหญ่และสำคัญต่อการแหวกว่ายคลื่นลม รัฐบาลไทยจึงไม่ควรจะละเลยการดูแลรักษาหนวดเส้นนี้ให้สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเสริมการส่งออก เผื่อว่าสถานการณ์ในมหาสมุทรโลกจะผันผวนอีกในอนาคต

“ข้าฯ ไม่ได้หมายความว่าให้ไทยเลิกพึ่งพาการส่งออก” พอลขยายความ “ถ้าเจ้าตัดหนวดเส้นเดียวที่มีอยู่ออกเสีย เจ้าจะว่ายน้ำกลับสเปนไปฉลองชัยชนะฟุตบอลโลกกับคนอื่น ๆ เขาได้อย่างไรเล่า สิ่งที่เจ้าต้องทำคือพาหนวดอีกเจ็ดเส้นที่เหลือไปทำกายภาพบำบัด   จะได้ฟื้นฟูกำลังวังชาให้กลับมาแหวกว่ายสายน้ำดังเดิมได้”

ผมจึงถึงบางอ้อ พอลกำลังบอกว่า สิ่งที่ไทยต้องทำคือสร้างงานที่มีรายได้สูงกว่างานในภาคการผลิตทั่ว ๆ ไปให้เกิดขึ้น     อันจะช่วยให้เกิดการโยกย้ายแรงงานไทยจำนวนหนึ่งไปยังภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งไปสู่งานในภาคบริการที่ต้องอาศัยทักษะสูง เช่น บริการทางการเงิน การแพทย์ หรือภาคส่วนที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ อาทิ สถาปัตยกรรม การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นต้น   (งานเหล่านี้โดยมากแล้วจะให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่างานทั่วไป   ทำให้แรงงานในภาคส่วนเหล่านี้มีรายได้มากขึ้น และสามารถนำรายได้ที่เหลือจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ไปใช้ในการบริโภคสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ในประเทศ เท่ากับเป็นการกระตุ้นความต้องการในประเทศได้อีกทางหนึ่ง) 

ผู้รู้ของเรากล่าวต่อไปว่า การที่ภาครัฐจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องอาศัยระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ  และจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านให้ขยายตัว   รวมทั้งส่งเสริมการแข่งขันในภาคบริการให้สูงขึ้น ซึ่งอาจทำได้ด้วยการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้อย่างเสรีมากขึ้น   ผมแอบคิดในใจว่า พี่พอลของเรานี่ก็ทันสมัยไม่ใช่เล่น   ขนาดเพิ่งว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรมาหยก ๆ ท่านยังมีเวลาไปอ่านรายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกที่ชื่อ Investing Across Borders   (เพราะเรื่องการแข่งขันในภาคบริการที่ท่านอ้างถึงนั้นก็มาจากรายงานฉบับดังกล่าวนี่เอง)

ก่อนจากกัน ผมแสดงความขอบคุณผู้รู้ชาวต่างชาติของเราที่กรุณาสละเวลามาให้คำปรึกษาแก่ทีมงานของธนาคารโลก   ผมบอกพอลว่า แม้ผมจะเข้าใจความหมายของการเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้กับการว่ายน้ำด้วยหนวดเส้นเดียวที่พอลใช้   แต่ในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยที่ทีมงานของเรากำลังจะจัดพิมพ์เผยแพร่นั้น ผมจะขอใช้การเปรียบเทียบที่มนุษย์อย่างผมเข้าใจได้ง่ายกว่า นั่นก็คือการเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยกับอากาศยานซึ่งกำลังเหินฟ้าด้วยเครื่องยนต์เพียงเครื่องเดียว    เมื่อไหร่ก็ตามที่เครื่องยนต์ดังกล่าวขัดข้อง แอร์ไทยแลนด์ก็คงวิ่งต่อไปไม่ได้   ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีให้เครื่องยนต์ที่เหลือใช้การได้ เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับเครื่องยนต์ที่ชื่อการส่งออก   อย่างน้อยแอร์ไทยแลนด์ก็ยังมีเครื่องยนต์อื่นๆ มาเสริมทัพ

พอลพยักหน้าหงึก ๆ เชิงว่าเข้าใจ ก่อนที่จะกระโดดลงน้ำเพื่อเดินทางไปสู่นัดครั้งต่อไปของเขาอย่างมาดมั่น   ...ผมมองตามไปจนร่างของพอลหายลับไปกับแนวคลื่น   โดยไม่ลืมที่จะสังเกตว่า ผู้รู้ของเราใช้หนวดทุกเส้นในการแหวกว่าย....

Authors

Frederico Gil Sander

Practice Manager, Global Macroeconomics and Debt

narukul lohajinda
August 04, 2010

บทความยอด อารมณ์ขันเยี่ยม