LGBTI ในประเทศไทย: ข้อมูลใหม่แสดงเส้นทางสู่การเป็นหนึ่งเดียว กับสังคมยิ่งกว่าที่เคย

|

This page in:

พรุ่งนี้เป็นวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ แนวคิดหลักของงานในวันสำคัญปีนี้คือ ครอบครัว ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตพวกเราทุกคน เป็นสิ่งที่เราใส่ใจเป็นลำดับแรก และเป็นสิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด  

โดยทั่วไปแล้ว ครอบครัวมักให้การยอมรับ สนับสนุน อบรมให้เรามีทักษะในการใช้ชีวิต และช่วยให้เราได้รับโอกาสทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ไม่ว่าเราจะเป็นหญิง ชาย หรือ เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ หรือ คนที่มีสภาวะเพศกำกวม เราทุกคนก็ล้วนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความรักและการสนับสนุนจากครอบครัว แต่เป็นที่น่าเสียใจสำหรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ที่หลายคนมาจากครอบครัวที่เป็นบ่อเกิดของความรุนแรงหรือความเกลียดชัง สร้างความกดดันให้ยอมรับบรรทัดฐานที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว หรือถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือที่ครอบครัวสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้

ในบางสังคม บุคคล LGBTI สามารถเริ่มต้นชีวิตครอบครัวโดยได้รับความคุ้มครองจากสังคม แต่ยังคงมีอีกหลายประเทศที่ยังมีอุปสรรคด้านกฏหมายหรือการตีตราที่จำกัดบุคคล LGBTI ในเรื่องการมีบุตร การรับบุตรบุญธรรม และการใช้ชีวิตร่วมกัน

เนื่องในวันสากลนี้เราขอยกคำถามว่า คุณรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติแก่กลุ่ม LGBTI และเราสามารถร่วมกันช่วยผลักดันให้พวกเขาเข้ามารวมอยู่ในสังคมเดียวกับเราและปรับปรุงชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร? ทำอย่างไรที่เราจึงสามารถยุติการเลือกปฏิบัติ และสนับสนุนสิทธิและการมีส่วนร่วมของพวกเขาได้?

ขณะนี้ ประเทศไทยเป็นผู้นำในก้าวต่อไปที่สำคัญของเรื่องนี้นั่นคือ การรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และนำไปสู่แนวทางด้านนโยบาย

ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กลุ่มธนาคารโลก คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Love Frankie ซึ่งเป็นกลุ่มทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้าน LGBTI ของประเทศไทย นักวิจัยภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ได้รวบรวมความคิดเห็นของคนที่เป็นและไม่เป็นบุคคล LGBTI ทั้งจากในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและชนบท ประสบการณ์ชีวิตจากการตอบแบบสอบถามของบุคคล LGBTI จำนวน 2,302 ถูกนำมาเปรียบกับผู้ที่ไม่ใช่บุคคลLGBTI 1,200 ในประเทศไทย

จากการที่มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามงานวิจัยครั้งนี้เป็นจำนวนมากทำให้ผลการศึกษามีความหมายในเชิงสถิติอย่างมีนัยสำคัญซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า กลุ่มบุคคล LGBTI ต้องยอมอดทนกับความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและการถูกเลือกปฏิบัติโดยปราศจากความละอาย บุคคล LGBTI ถูกแบ่งแยกจากหลายเรื่องในชีวิตทั้งเรื่องการศึกษา การดูแลสุขภาพ การได้รับสินเชื่อและการเงิน (รวมถึงการทำประกันชีวิตและสุขภาพ) การเข้าถึงที่อยู่อาศัย ตลาดงาน และในที่ทำงาน

ผู้ตอบแบบสอบถาม LGBTI 45% ไม่ประสบความสำเร็จในการสมัครงานเพราะอัตลักษณ์การเป็นบุคคล LGBTI ในขณะที่ 53%  มีปัญหาด้านอารมณ์อันเป็นผลโดยตรงจากการถูกเลือกปฏิบัติ อาทิ อาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวลโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือ อาการคับข้องใจ เกือบครึ่งหนึ่งของบุคคล LGBTI ที่ตอบแบบสอบถามเล่าว่าไม่สามารถแสดงความสามารถที่แท้จริงได้ในที่ทำงานได้อย่างเต็มที่

ประเด็นสำคัญที่พบจากการวิจัยคือชาว LGBTI มีความทุกข์แตกต่างกันไป คนข้ามเพศทั้งหญิงและชายเป็นกลุ่มที่มีความทุกข์มากที่สุด ในขณะที่เลสเบี้ยนและหญิงที่เป็นไบเซ็กชวล ถูกเลือกปฏิบัติและถูกแบ่งแยกออกจากสังคมมากกว่าเกย์ หรือชายที่เป็นไบเซ็กชวล งานวิจัยนี้ยังพบประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งว่า ชาว LGBTI หลายคนได้รับความบีบคั้นทางจิตใจอย่างหนักจากการถูกปฏิเสธจากเพื่อน พ่อแม่ ครอบครัว และคนอื่นๆ ในสังคม

อย่างไรก็ดี ข้อค้นพบจากการวิจัยครั้งนี้ มิได้มีแต่ด้านร้ายอย่างเดียว บุคคล LGBTI เลือกที่จะเล่าให้ครอบครัวและเพื่อนฟังเมื่อถูกเลือกปฏิบัติ มากกว่าที่จะรายงานตามกลไกการร้องเรียน หรือตามหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากครอบครัวและเพื่อนๆ ยอมรับและรักในสิ่งที่พวกเขาเป็น หญิงข้ามเพศวัย 31 ได้แบ่งปันประสบการณ์ของเธอให้เราฟังว่า

พ่อแม่เป็นครู ... การที่ได้เกิดเป็นลูกของท่าน ท่านรักฉัน รักฉันมากเลย และยอมรับในตัวฉัน พวกเขาเห็นมาตั้งแต่ฉันยังเด็กว่าแม้จะเกิดเป็นผู้ชาย แต่ก็เป็นคนตัวเล็ก ฉันไม่เคยมีปัญหากับพ่อแม่เลย พวกเขายอมรับฉันอย่างหมดใจ ฉันคิดว่าฉันโชคดีในเรื่องนี้

ใช่เธอโชคดีและที่โชคดีไปยิ่งกว่านั้นคือ การที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งสังคมได้เริ่มตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับประสบการณ์ของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ คือ เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และผู้มีสภาวะเพศกำกวม รวมถึงการออกกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศเพื่อปกป้องบุคคล LGBTI ถึงแม้ว่าบุคคล LGBTI เพียงแค่ 30% เท่านั้นที่รู้เรื่องกฎหมายฉบับนี้

การรณรงค์ให้เกิดการตระหนักรู้ในเรื่องนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ รวมถึงการนำกฎหมายไปใช้ และสนับสนุนให้บุคคล LGBTI ได้ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมทั่วทั้งประเทศ หากปรับปรุงการตระหนักรู้ของคนทั่วไปในเรื่องนี้ได้แล้วนั้น นโยบายและโครงการของภาครัฐก็จะช่วยปกป้องและรวมบุคคล LGBTI เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทั้งที่โรงเรียน ที่ทำงาน และเรื่องอื่นๆ ในชีวิต ผลดีที่จะได้รับตามมาก็คือ กำลังแรงงานที่มีการศึกษาดีขึ้นและมีผลการทำงานที่ดีกว่าเดิม นอกจากนี้ยังทำให้สังคมทั้งหมดมีความสุขและดีกว่าที่เคยเป็นมา

เนื่องในวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศจะเริ่มฉลองในวันพรุ่งนี้ เราอยากเชิญชวนทุกท่านร่วมกันขอบคุณ ให้เกียรติ และฉลองให้กับครอบครัวและสัมพันธภาพที่บุคคล LGBTI ได้รับ ได้สร้าง หรือเลือกแล้วท่ามกลางความหลากหลายของพวกเขาทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

บล็อกนี้ได้ตีพิมพ์เป็นบทความลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Authors

Ulrich Zachau

Director of the World Bank for Colombia and Venezuela.