ถึงเวลาที่ต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ใน PDF: Korean | Khmer
Image

ทุกครั้งที่ผมทราบข่าวว่ามีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้น ผู้คนบาดเจ็บเสียชีวิต บ้านเรือนพังเสียหาย ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ประสบภัยต้องเปลี่ยนแปลงไป ผมรู้ว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยลดผลกระทบอันน่าสลดใจนี้ แทนที่จะรอให้มันเกิดขึ้นอีก

เรามีโอกาสจะผลักดันเรื่องนี้ในการประชุมนานาชาติเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่จัดขึ้นปีนี้ ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงานกรอบการดำเนินงานเฮียวโกะ ระยะที่ 2 (Hyogo Framework for Action-HFA2) ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติแก่ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับนานาชาติ การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่จะตั้งเป้าหมายในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและต่อสู้กับความยากจนอีกด้วย

ภัยพิบัติจากธรรมชาติมีมูลค่าความเสียหายมหาศาล ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2 ล้าน 5 แสนคน และสร้างความสูญเสียเป็นมูลค่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบให้การพัฒนาชะงักลง

ในภูมิภาคเอเชีย การพัฒนาเขตเมืองอย่างรวดเร็วผนวกกับการวางผังเมืองยังไม่มีคุณภาพได้เพิ่มความเสี่ยงให้เมืองต่าง ๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมืองที่ตั้งอยู่แถบชายฝั่งและลุ่มแม่น้ำที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนได้คร่าชีวิตผู้คนกว่า 7,350 คนในฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2556 แล้วยังส่งผลโดยตรงให้ความยากจนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2

ทุกวันนี้ เรามีเครื่องมือที่ช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เช่น ระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียซึ่งติดตั้งหลังเกิดภัยพิบัติเมื่อปี 2547 ซึ่งสามารถส่งสัญญาณเตือนไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติภายใน 10 นาทีเมื่อเกิดแผ่นดินไหว และช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตใน 28 ประเทศ

รายงานของธนาคารโลกซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมและระบบแผนที่ภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ (Geospatial) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดินในเอเชียซึ่งเป็นข้อมูลที่ช่วยแนะนำแนวทางการวางผังเมืองและการตัดสินใจลงทุน

โดยสรุปแล้ว ภารกิจอันใหญ่หลวงว่าด้วยการวางรากฐานเพื่อตั้งรับพิบัติจากธรรมชาตินั้นเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐบาล ชุมชน ประชาคมนานาชาติ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ทุกภาคส่วน

โครงการริเริ่มการประเมินความเสี่ยงและจัดสรรเงินเพื่อมหันตภัยแห่งแปซิฟิก (Pacific Catastrophe Risk Assessment and Financing Initiative - PCRAFI) ภายใต้ความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่น สำนักงานเลขาธิการประชาคมแปซิฟิก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย และธนาคารโลก กองทุนโลกเพื่อลดความเสี่ยงและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ (Global Facility for Disaster Reduction and Recovery - GFDRR) และสหภาพยุโรป ได้ร่วมกันรวบรวมข้อมูลภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ (geospatial) ด้านความเสี่ยงจากภัยพิบัติไว้มากที่สุดสำหรับกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก

ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์แก่โครงการนำร่องด้านการประกันความเสี่ยงในแปซิฟิก ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนระดับภูมิภาคที่ช่วยให้ประเทศที่เข้าร่วมโครงการได้รับเงินประกันชดเชยความเสียหายอันเกิดจากแผ่นดินไหว สึนามิ และพายุหมุนเขตร้อนจากกลุ่มบริษัทประกันภัยนานาชาติ เมื่อปี 2556 ตองกาเป็นประเทศแรกที่ได้รับเงินประกันภัยจำนวน 1,270,000 เหรียญสหรัฐฯ อย่างรวดเร็วเพื่อบรรเทาความเสียหายจากพายุไซโคลนเอียนทันที

ในขณะเดียวกัน โครงการต่างๆ เพื่อการพัฒนาและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามกำลังช่วยให้ชุมชนหลายร้อยแห่ง โดยการปรับปรุงให้ชุมชนการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่น และช่วยเสริมศักยภาพของชุมชนในการปรับตัวรับภัยพิบัติในระยะยาวด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า การวางเส้นทางการอพยพ และการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน

ธนาคารโลกเองก็เพิ่มความพยายามในการสร้างความต้านทานจากภัยพิบัติผ่านโครงการของเรา  นับตั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นมา ทุกโครงการของธนาคารโลกต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ รวมทั้งต้องมีแนวทางการลดผลกระทบจากภัยพิบัติจากผลการวิเคราะห์นั้น

อีกหลายทศวรรษที่จะมาถึงนี้ การปรับตัวรับภัยพิบัติควรเป็นพันธกิจที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม มิใช่เพียงคำที่พูดกันติดปากในแวดวงนักพัฒนา ไม่มีเมืองไหนที่เหมาะสมไปกว่าเมืองเซนไดที่จะช่วยให้เราตระหนักถึงความเร่งด่วนและประโยชน์จากการลงทุนเพื่อปรับตัวตั้งรับภัยพิบัติอย่างเต็มที่

อ่านต่อที่ Building a New Framework for Disaster Risk Reduction


Authors

Axel van Trotsenburg

World Bank’s Senior Managing Director (SMD)

Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000