สะท้อนภาพสงกรานต์ ใส่ใจปีใหม่ไทย ให้ถนนเราปลอดภัยขึ้น

This page in:
Image

ภาพถ่ายโดย echo0101 ผ่านการอนุญาตจากครีเอทีฟคอมมอนส์

Available in English

ประเทศเกือบทั่วไปในโลกฉลองปีใหม่ด้วยการจุดพลุเล่นไฟ ในประเทศไทย เรารับปีใหม่ในเดือนเมษาด้วยชุ่มช่ำของน้ำ ในเทศกาลสงกรานต์ เรามีประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อแสดงความกตัญญูและความเป็นสิริมงคล แล้วยังเป็นช่วงเวลาของความสนุกสนาน ได้เล่นน้ำกันบนท้องถนน ผู้คนต่างเดินทางไปกับเพื่อนผองและครอบครัวกันเป็นจำนวนมากในวันหยุดนี้

แต่เมื่อสังสรรค์กันจนเลยเถิดไป ความสนุกก็กลายเป็นความหายนะได้ จากสถิติของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (pdf) สัปดาห์สงกรานต์ปี 2555 มีผู้เสียชีวิต 320 ราย และบาดเจ็บ 3,320 ราย  จากอุบัติเหตุบนท้องถนน และส่วนมากมาจากการเมาแล้วขับ ทุกๆ สงกรานต์จึงเป็นเครื่องเตือนใจว่า ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาหลักในเรื่องการสาธารณสุขและการพัฒนาประเทศจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน

มาดูตัวเลขกันชัดๆ จากรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนปี 2553 (Thailand Road Traffic Accident Situational Report 2010) มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า12,000 คน เกือบ 100,000 คนได้รับบาดเจ็บ และอีกหลายพันคนที่ต้องพิการไปตลอดชีวิต

ในประเทศไทยการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนส่งผลกระทบต่อคนยากจนอย่างมาก คนกลุ่มนี้มีวิธีการรับมือกับความสูญเสียจากอุบัติเหตุไม่มากนัก ข้อมูลจากโรงพยาบาลบ่งว่า 75-80% ของผู้บาดเจ็บ และ 70-90% ของผู้เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับรถมอเตอไซค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจน

แล้วยังต้องเน้นว่า กลุ่มเยาวชนไทยมีความเสี่ยงสูงต่ออุบัติเหตุทางถนนด้วย การศึกษาเรื่องภาระของโรค (Burden of Disease Working Group) ของสำนักงานนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้ชายช่วงอายุ 15-29 ปี มาจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนถนน และมาเป็นอันดับที่สองของผู้หญิงในช่วงอายุเดียวกัน

เพราะว่าอุบัติเหตุทางถนนส่งผลกระทบต่อวัยทำงาน ทำให้ภัยนี้สร้างความเสียหายต่อผลิตภาพของประเทศอย่างเงียบๆ แต่รุนแรง โดยนับจากระยะเวลาการทำงานที่หายไปเป็นปีๆ กับความตายและการพิการทุพพลภาพ กระทรวงสาธารณสุขยังชี้อีกว่า ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขจำนวนมากสูญเสียไปกับอุบัติเหตุบนท้องถนน

รัฐบาลไทยได้มีการพูดถึงปัญหานี้ และริเริ่มแผนงาน “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” โดยตั้งเป้าที่การลดอุบัติเหตุทางถนนจาก 20 ต่อประชากร 100,000 คนในปัจจุบันให้เหลือเพียง 10 ต่อประชากร 100,000 คนในปี 2563 นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทุกคนต้องช่วยกันทำให้ท้องถนนมีความปลอดภัยมากขึ้น รากเหง้าของอุบัติเหตุทางถนนก็จะต้องถูกจัดการ เราเห็นเด็กนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ หรือนั่งหลังรถกระบะที่ไม่มีหลังคากันอยู่กันดาษดื่น นี่เป็นประเด็นทางพฤติกรรม เช่น การเมาเหล้าหรือยาในขณะขับรถ ไม่ใส่หมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย คุยโทรศัพท์ระหว่างขับรถ แล้วก็ยังเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการจัดการ เช่น สภาพถนนและรถที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และระบบการจัดการหลังเหตุอุบัติภัยที่หละหลวม

แล้วเราสามารถช่วยทำอะไรได้บ้าง เริ่มจากการสวมหมวกนิรภัย เมื่อขับรถมอเตอร์ไซค์ และไม่ควรให้เด็กนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ หรือนั่งหลังรถกระบะที่ไม่มีหลังคา เราต้องคิดถึงการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้คนจนให้มีทางเลือกมากขึ้น ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงธรรมาภิบาลและการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัยทางท้องถนน และการบังคับใช้ระเบียบกฎหมายบนท้องถนนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนา ภาคเอกชน และรวมทั้งพวกเราเองต้องช่วยกันในส่วนของตนเอง เพื่อทำให้ถนนของเรามีความปลอดภัยมากขึ้นสำหรับทุกๆ คน

มาช่วยกันร่วมทำให้ปีใหม่ของไทย ปลอดอุบัติภัยบนท้องถนนกันมากขึ้น ในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้และปีต่อๆ ไป


Authors

Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000