หยุดอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าเพื่อเราทุกคน

This page in:

Image

Available in English

การล่าช้างเพื่อเอางามาขายยังคงดำเนินต่อไป ช้างจำนวนมากถูกทิ้งให้เลือดนองและตายไปในท้องทุ่ง  เช่นเดียวกับบรรดาเจ้าหน้าที่ที่ปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศต่างๆ  ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าถูกสังหารไปกว่า 1,000 คนใน 35 ประเทศ สหพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศ (International Ranger Federation) ให้ข้อมูลว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ถูกสังหารทั้งโลกในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้อาจมีมากถึง 5,000 คน

ในการประชุมสมัยสามัญภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธ์ (CITES COP-ไซเตส) ห้องประชุมที่กรุงเทพฯ กึกก้องไปด้วยเสียงแสดงความเป็นห่วงกังวลต่อช้างและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะแรด ที่กำลังถูกฆ่าล้างผลาญทั่วทั้งแอฟริกาเพื่อแสวงหาผลกำไรบนความสูญเสียของชุมชนต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติที่เป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ที่เป็นทั้งทุนตั้งตัว และเป็นตาข่ายรองรับความปลอดภัยในโลกที่กำลังร้อนขึ้นทุกขณะ

แล้วทำไมธนาคารโลกถึงต้องใส่ใจเรื่องนี้? เพราะเราคำนึงถึงการสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและชุมชนที่เข้มแข็งโดยการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างประโยชน์อย่างทั่วถึง และเตรียมการให้ประเทศและชุมชนต่างๆ มีความพร้อมรับมือกับผลกระทบต่างๆ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

แล้วเรื่องนี้มาเกี่ยวอะไรกับการค้างาช้างด้วย? พูดง่ายๆ คือว่า เราจะไม่สามารถบรรลุความฝันถึงโลกที่ปราศจากความยากจนได้ โดยไม่คำนึงถึงปัญหาอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกเหนือไปจากผลกระทบที่เกิดโดยทันใดของการทำลายสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่สามารถนำไปใช้เพื่อการลงทุนทั้งในภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ชนบทแล้ว (ลองนึกถึงการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ) อาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชนำไปสู่ปัญหาการขยายตัวของอาวุธปืนในพื้นที่ที่ต้องมีการจัดการแก้ไขลดปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่แล้ว มันยังเป็นที่มาของเงินที่สร้างปัญหาการทุจริตรับสินบน โดยเฉพาะบรรดาประเทศที่ประเด็นการทุจริตได้เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและการดำเนินธุรกิจตามกฎหมายมากพออยู่แล้ว แล้วมันยังส่งเสริมอาชญากรรมและบั่นทอนความพยายามในการสร้างธรรมาภิบาล ระบอบประชาธิปไตยและความโปร่งใสในชุมชนต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีปากมีเสียงมากขึ้น มันเป็นปัญหาต่อทั้งบรรดาแรงงาน ผู้หญิงและคนยากคนจน

แล้วเราต้องทำอย่างไร?

อย่างแรก สิ่งที่เราต้องไม่ทำ คือ สร้างอุปสรรคให้กับประเทศลูกค้าของเราด้วยการบั่นทอนความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายของพวกเขา เมื่อเราให้ความช่วยเหลือด้านการเอื้ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการปรับปรุงภาษีศุลกากรให้ทันสมัย เราก็ต้องให้ความสนใจ ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการฝึกอบรมในเรื่องอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อเราให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการเขตป่าอุทยานต่างๆ เราก็ต้องให้ความสนใจต่อความต้องการและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในแนวหน้าด้วย เราจะต้องไม่ทำแต่เพียงการกล่าวโทษ แต่ต้องคิดหาทางแก้ไขและสร้างเครือข่ายต่างๆ ขึ้นมาเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ

เราต้องยืนหยัดเข้มแข็งเผชิญหน้ากับขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเพื่อการพัฒนา การสร้างธรรมาภิบาล และความใฝ่ฝันของเราถึงโลกที่ปราศจากความยากจน

เราต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่ประเทศลูกค้าของเรา เราต้องทำงานร่วมกับภาคส่วน และกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ อย่างที่เครือข่ายอาชญากรรมกระทำโดยเลิกปฏิบัติการแบบเฉพาะส่วนและสร้างนวัตกรรมจนประสบความสำเร็จ เราก็ต้องทำเช่นเดียวกัน เพียงแต่ต้องทำให้ดีกว่า

เราต้องให้การสนับสนุนสหภาพสากลว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า (International Consortium for Combatting Wildlife Crime)และให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันต่อไป

เราต้องให้การสนับสนุนประเทศต่างๆ ต่อไปในการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลป่าให้ได้รับการฝึกฝนอบรม มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมและได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นอย่างดี

เราต้องตามรอยเงินผิดกฎหมาย และใช้เครื่องมือต่อต้านการฟอกเงิน ตลอดจนจัดการฝึกฝนอบรมต่างๆ เพื่อทำให้อาชญากรรมการค้าสัตว์ป่านั้นมีความเสี่ยงและต้นทุนสูงมากกว่าผลกำไรที่จะได้รับ

เราต้องทำงานกับนักการเมือง ผู้พิพากษาและอัยการ และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เพื่อสร้างเจตน์จำนงทางการเมือง ประสานความช่วยเหลือกับหน่วยงานต่างๆ และยกระดับการทำงานให้เป็นมืออาชีพ

นี่คือการต่อสู้ที่ไม่เพียงแค่การอนุรักษ์ช้าง แรด ฉลาม หรือไม้พะยูงเท่านั้น หากเป็นการต่อสู้เพื่อให้เราสามารถรับมือกับผลกระทบจากโลกที่ร้อนขื้นทุกวัน เพื่อให้เราสามารถแบ่งปันความรุ่มรวยจากต้นทุนทางธรรมชาติ และเพื่อปกป้องมนุษยชาติของเราเอง มันคือการต่อสู้ที่เราแพ้ไม่ได้

 

 


Authors

Valerie Hickey

Global Director for Environment, Natural Resources and Blue Economy (ENB) at the World Bank

Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000