ประสบการณ์จากประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าการให้ความสำคัญ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจก่อน แล้วค่อยแก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อมภายหลังนั้นอาจไม่สำเร็จ เมื่อเทียบกับประเทศที่ใส่ใจและให้ความสำคัญ กับเรื่องการเติบโตที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของประเทศ
จากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่าเมื่อปี 2555 อัตราการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติต่อปีของไทยนั้นอยู่ 4.4% จากรายได้ประชาชาติรวมของประเทศ และสูงกว่าปี 2545 อย่างมาก แม้ว่าอัตรานี้จะไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แต่สำหรับประเทศไทยนั้นนับว่าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากช่วงปี 2523-2533
การสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติไทยที่สูงขึ้นได้อย่างชัดเจน การตัดไม้เถื่อนและการลักลอบตัดไม้ส่งผลให้พื้นที่ป่าของไทยลดลงจาก 171 ล้านไร่ในปีพ.ศ. 2504 เหลือเพียง 107.6 ล้านไร่ในปี 2552 ชุมชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลกำลังเผชิญกับภาวะกัดเซาะชายฝั่ง ขยะในทะเล และการลักลอบจับปลาแบบผิดกฎหมาย ชายฝั่งทะเลไทยเผชิญกับความเสี่ยงอันเกิดจากคลื่นพายุซัดชายฝั่งและน้ำทะเลสูงขึ้นอันเป็นผลจากการทำลายพื้นที่ป่าโกงกางและแนวปะการังอย่างต่อเนื่อง
การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างไร? เราสามารถเห็นผลกระทบจากเรื่องนี้ได้ทั่วไปและทุกวัน อาทิ
ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ป่าซึ่งใช้ป่าเป็นที่พึ่งในการดำรงชีวิตจะหาอาหารและสมุนไพรเพื่อใช้เป็นยายากขึ้นทุกวัน
ผู้ประกอบการในท้องถิ่นหรือชาวเรือผู้หาเลี้ยงชีพจากธุรกิจดำน้ำ ก็ต้องเสียรายได้เนื่องจากปัญหาปะการังฟอกสี ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอาจต้องปิดชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ
ระดับมลพิษทางอากาศในกรุงเทพ ยังสูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำไว้ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องระบบการหายใจและผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
ชุมชนที่อาศัยอยู่ตลอดแนวแม่น้ำมีความเสี่ยงที่ต้องใช้น้ำปนเปื้อนไม่ปลอดภัย ทั้งนี้มีน้ำเสียเพียง 50% เท่านั้นที่ได้รับการบำบัดก่อนปล่อยออกสู่คูคลองแม่น้ำ ผู้อาศัยในเขตเมืองอาจต้องคิดทบทวนอีกครั้งเรื่องความปลอดภัยของอาหารที่เติบโตจากน้ำที่อาจมีสารเจือปนในพื้นที่เพาะปลูก
ประเทศไทยมีโอกาสอีกมากมายที่จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามที่ธนาคารโลกได้แนะนำไว้ในรายงาน “กลับสู่เส้นทาง : ฟื้นฟูการเติบโตและประกันความมั่งคั่งสำหรับทุกคน” รายงานนี้ได้เสนอแนวทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างการเติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมั่นคงเข้มแข็ง
ประเทศไทยต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการปกป้องสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินไปพร้อมกันได้? ผู้กำหนดนโยบายมีความเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและได้จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อจัดการปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวใจสำคัญคือการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ อาทิ ได้มีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ถึง 40% ของพื้นที่ประเทศ การเร่งขั้นตอนการกำหนดความชัดเจนของเขตพื้นที่ป่านับเป็นขั้นแรกที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ นอกจากนี้ การลงทุนเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนก็มีความสำคัญในการเพิ่มพืนที่ป่าเช่นกัน ซึ่งสามารถเห็นรูปแบบการลงทุนประเภทนี้ได้ในประเทศแถบยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และมีการใช้มากขึ้นในประเทศแถบลาตินอเมริกา
ตั้งแต่ปี 2555 ภาครัฐได้ออกกฏระเบียบเพื่อกำหนดการปล่อยมลพิษทางน้ำที่เข้มงวดมากขึ้น แต่ความท้าทายอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย การนำข้อมูลมาใช้มากขึ้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบติดตามและการบังคับใช้กฏหมาย เช่น การติดตามปริมาณมลพิษและการปล่อยน้ำเสียด้วยระบบดิจิตอลแบบเวลาจริง ปัจจุบันได้มีการจัดทำระบบการติดตามการปล่อยน้ำเสียสำหรับโรงงานขนาดใหญ่กว่า 300 แห่งซึ่งน่าจะขยายการใช้ระบบติดตามนี้ให้ครอบคลุมถึงโรงงานและผู้ปล่อยมลพิษอื่นๆ รวมถึงการให้ข้อมูลการปล่อยน้ำเสียแก่สาธารณะจะทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายด้วย
นอกจากนี้ การกำหนดราคามลพิษ อาทิ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์นั้นจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนา และหันมาใช้พลังงานและเทคโนโลยีที่สะอาดมากขึ้น ปัจจุบันมีประเทศกว่า 40 ประเทศทั่วโลกได้นำกลไกราคาคาร์บอนมาใช้ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์อีกอันที่อาจพิจารณามาใช้คือค่าบริการสิ่งแวดล้อม เช่น ภาครัฐจ่ายเงินให้กับชุมชนรอบๆ ที่ช่วยดูแลปกป้องพื้นที่ป่า
การเติบโตสีเขียวได้เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงานในประเทศอื่นๆ อาทิ อังกฤษและเกาหลี และสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตให้กับประเทศไทยได้เช่นกัน มาตรการภาครัฐที่สร้างแรงจูงใจให้กับโครงการพลังงานทดแทนได้ส่งผลให้การผลิตพลังงานทดแทนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ คาดการณ์ว่าการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในปีนี้เพียงปีเดียวนั้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาทซึ่งจะสร้างงานให้ประเทศ พลังงานทดแทนยังมีโอกาสอีกมากที่จะเติบโต
คนไทยสามารถทำอะไรได้บ้าง? เราสามารถทำอะไรได้บ้าง? การที่ประเทศจะเติบโตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสะอาดนั้นเริ่มต้นจากเราทุกคน เราสามารถเป็นผู้บริโภคที่ใส่ใจโดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดไฟฟ้าแบบที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศที่ไม่ใช้สารทำความเย็นที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เราสามารถใช้น้ำให้น้อยลง ลดการสร้างขยะ โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง รวมถึงรีไซเคิลขยะทั้งที่บ้านและที่ทำงาน นอกจากนี้
เรายังสามารถมีส่วนร่วมแสดงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสังคม เพื่อสนับสนุนนโยบายและโครงการที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยกำลังเดินมาถูกทางในการเผชิญหน้าและจัดการความท้าทายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิมนั้นเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อจะช่วยให้ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติไว้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต และปกป้องความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติเพื่อคนไทยรุ่นต่อไป
บล็อกนี้ได้ตีพิมพ์เป็นบทความลงหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ
Join the Conversation