ประเทศในอาเซียนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะนี้มีประชากรไทยที่มีอายุ 65 ปีหรือแก่กว่ามีจำนวนมากถึงร้อยละ 10 หรือมากกว่า 7 ล้านคน และภายในปี 2583 ประชากรในกลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 17 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้ประเทศไทยยังมีส่วนแบ่งของจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเช่นเดียวกับประเทศจีน และจะกลายเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งของจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในภูมิภาคภายในปี 2583 รายงานล่าสุดจากธนาคารโลก ‘Live Long and Prosper: Aging in East Asia and Pacific’ พูดถึงการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และได้นำเสนอวิธีการต่างๆ ที่แต่ละประเทศสามารถนำไปใช้แก้ปัญหา พร้อมชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่เป็นประโยชน์ที่จะมาพร้อมกับปรากฎการณ์นี้
อันที่จริงแล้วจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลจากความสำเร็จของการพัฒนาในประเทศไทย กล่าวคือ ประชาชรมีอายุขัยที่สูงขึ้น และ อัตราการเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างรวดเร็วจากอัตราที่สูงและไม่คงตัวในหลายทศวรรษก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ในทุกๆ ความสำเร็จย่อมนำความท้าทายใหม่ๆ มาให้ และปัญหาการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยนั้นก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ยกตัวอย่างเช่น จำนวนของประชากรวัยทำงานในประเทศไทยที่คาดการณ์ว่าจะหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 10 ภายในปี 2583 ทั้งนี้ประเทศไทยได้หยุดรับประโยชน์จาก ‘การปันผลทางประชากร’ แล้ว ซึ่งในอนาคตการเติบโตและการพัฒนาของมาตรฐานการครองชีพของประเทศจะมาจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ครอบครัวที่มีผู้นำเป็นผู้สูงอายุชาวไทยมีโอกาสเป็นคนยากจนมากกว่าผู้นำครอบครัวที่มีอายุในช่วง 30 ถึง 40 ปี ถึงสองเท่า และในหลายๆ กรณีครอบครัวเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิ์ในกองทุนบำเหน็จบำนาญของแรงงานในระบบ
ประเทศไทยและประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ ในอาเซียนกำลัง ‘แก่ก่อนรวย’ ดังนั้นความสามารถของรัฐที่จะจัดการกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วจะถูกจำกัดมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งร่ำรวยในขณะที่ประชากรวัยทำงานนั้นกำลังเติบโต ในขณะเดียวกันคนไทยยังมีความคาดหวังที่สูงจากรัฐ ซึ่งจากการสำรวจล่าสุดทั่วเอเชียพบว่า 2 ใน 3 ของคนไทยหวังว่ารัฐจะเป็นที่พึ่งแรกของความช่วยเหลือด้านการเงินเมื่อแก่ตัว หากมองในระดับสากล การจัดการกับความคาดหวังต่างๆ พร้อมไปกับความเป็นได้ทางการคลังมีความเกี่ยวเนื่องกับบทบาทสำหรับการจัดหาเงินในด้านการบริการและผลประโยชน์ของผู้สูงอายุที่ไม่ได้มาจากภาครัฐ ซึ่งก็คงจะไม่แตกต่างกันสำหรับประเทศไทย
ดังนั้นแล้วประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยสามารถทำอะไรได้บ้าง? ขั้นแรกแต่ละประเทศต้องทำความเข้าใจว่าการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยไม่ได้เกี่ยวข้องแต่เพียงตัวผู้สูงอายุเท่านั้น ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับทุกคน การปฏิรูปนโยบายที่ครอบคลุมในวงกว้างและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหา กระบวนการนี้สามารถเริ่มต้นที่นโยบายต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการมีบุตรของแต่ละครอบครัว การผนวกกำลังความช่วยเหลือของรัฐในการดูแลเด็ก และนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยปรับสมดุลของชีวิตการทำงานและครอบครัว ตลอดจนนโยบายในช่วงชีวิตการทำงานที่จะต้องสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ และการปฏิรูปแรงงานและนโยบายด้านภาษีเพื่อสนับสนุนชีวิตการทำงานที่ยาวนานและมีประสิทธิภาพ รวมถึงนโยบายการย้ายถิ่นเพื่อดึงดูดคนงานอายุน้อย การปฏิรูปเหล่านี้ยังมีความจำเป็นเพื่อรับรองความครอบคลุมของประกันสังคม สุขภาพ และระบบการดูแลระยะยาวอย่างกว้างขวาง และให้การคุ้มครองทางการเงินที่เพียงพอแก่ผู้สูงอายุ อีกทั้งยังคงค่าใช้จ่ายภาครัฐอย่างยั่งยืน
เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศที่ร่ำรวยในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ ของโลกว่าแต่ละประเทศจะต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหาจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น เช่น ประเทศไทยจำเป็นต้องขยายอายุเกษียณออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับประชากรที่มีอายุยืนยาวขึ้น พร้อมทั้งการขยายการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานในหมู่คนไทยในเมือง และการจำกัดค่าใช้จ่ายภาครัฐให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามยังคงมีข่าวดีสำหรับประเทศไทยเมื่อพูดถึงจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ประการแรก คนไทยหลายคนมีช่วงชีวิตการทำงานที่ยาวนานและมากกว่าที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้กำหนดไว้ที่อายุ 64 ปี ประการที่สอง ระบบการรักษาสุขภาพของไทยได้ผ่านการปฏิรูปในด้านต่างๆ เช่น วิธีการจ่ายค่ารักษาให้สถานพยาบาล ซึ่งทำให้ไทยอยู่ในระดับที่เหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในการจัดการความต้องการในการรักษาสุขภาพของประชากรสูงวัย ประการที่สาม เบี้ยยังชีพในประเทศไทยยังคงเป็นตัวช่วยทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ ถึงแม้ว่าจำนวนจะค่อนข้างน้อย
การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในทวีปเอเชียอาจมอบโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยเองก็อยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถดึงส่วนแบ่งจากตลาดที่กำลังเติบโตนี้ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เช่นเดียวกันเราอาจจะได้เห็นจำนวนผู้สูงอายุในหลายประเทศในภูมิภาคนี้มาปลดเกษียณที่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีผู้สูงอายุชาวไทยเองก็จะหยิบยื่นโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ตลาดใหม่ในหลายส่วน อาทิ สุขภาพและการดูแลผู้สูงวัย บริการทางการเงิน เทคโนโลยี และวิทยาการหุ่นยนต์
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยนั้นจะสร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย ทั้งในด้านการรักษาการเติบโตของประเทศ การจัดการการเงินสาธารณะ และการสนับสนุนมาตรฐานการครองชีพ ดังนั้นรัฐบาลไทย นายจ้างและพนักงาน และครอบครัวจะมีวิธีในการจัดการกับจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างครอบคลุม และยังบรรลุการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างแข็งแรงและมีประสิทธิภาพ เช่นนี้แล้วสังคมไทยโดยรวมก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่งคั่งและยั่งยืน
นายอูริค ซาเกา เป็นผู้อำนวยการธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กัมพูชา ลาว มาเลเซีย พม่า และไทย) เยี่ยมชมเว็บไซต์ของธนาคารโลกที่ www.worldbank.org เพื่ออ่านรายงาน Live Long and Prosper: Aging in East Asia and Pacific ฉบับเต็ม
Join the Conversation