โครงการแล็ปท็อป และแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาขนาดใหญ่ -- บทเรียนจาก 10 ประเทศ

This page in:

Also available in English

Photo by eFF-BKK
ภาพถ่าย slate กระดานฉนวน โดย Napat Chaichanasiri ผ่านการใช้ลิขสิทธิ์จากครีเอทีฟคอมมอนส์

ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีข่าวน่าสนใจจากบทความที่มาจากหลากหลายแหล่ง ตั้งแต่ จากเคนยา เรื่อง “โรงเรียนประถม 6,000 แห่งได้รับเลือกร่วมโครงการแล็ปท็อปฟรี” หรือ จากแคลิฟอร์เนียเรื่อง “ลอสแอนเจลิสเตรียมแจกไอแพดฟรี 640,000เครื่องให้นักเรียน” นี่เป็นแค่สองเรื่องจากที่มีอยู่มากมาย ที่ชี้ให้เห็นถึง การนำคอมพิวเตอร์พกพา (แล็ปท็อป และแท็บเล็ต) มาใช้ในโรงเรียนทั่วโลกอย่างรวดเร็วขึ้นและเป็นจำนวนมากขึ้น ถ้ามองจากค่าใช้จ่ายเพียงด้านเดียว ซึ่งอาจจะมีมูลค่ามหาศาลได้แล้ว ข่าวเหล่านี้บ่งชี้ว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ในโรงเรียน เริ่มที่จะเข้ามาเป็นศูนย์กลางของนโยบายและกระบวนการวางแผนด้านการศึกษา ในหลายประเทศทั่วทุกทวีป ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน

โครงการแบบนี้เป็นความคิดที่ดีหรือไม่? นั่นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ผมพบว่า โดยส่วนมากข้อเสียของโครงการลักษณะนี้จะซ่อนอยู่ในรายละเอียด (และการวิเคราะห์ความคุ้มทุน) อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงการเหล่านี้กำลังเกิดขึ้น บ้างให้ผลดี บ้างก็มากับผลเสีย ทั้งยังเกิดถี่ขึ้น และจำนวนมากขึ้น เห็นได้จากคำถามต่อไปนี้

เราเข้าใจถึงโครงการที่ได้ผล
และที่ไม่ได้ผลแค่ไหน (ทำไมมันถึงได้ผล? และมันได้ผลได้อย่างไร?)
ในช่วงการวางแผน และการดำเนินโครงการลักษณะนี้
เราทราบหรือไม่ว่า ค่าใช้จ่าย และผลประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันนั้นมีอะไรบ้าง
และเราจะหาคำตอบสำหรับคำถามข้างต้นนี้ได้จากที่ไหน?
 ---
 

ปัจจุบันธนาคารโลกเองยังไม่เคยมีส่วนร่วมในการจัดสรรความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการในลักษณะนี้โดยตรง (แม้ว่าจะมีส่วนร่วมในการเจรจาด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องมาหลายครั้ง และได้ทำการประเมินผลกระทบของโครงการเหล่านี้บ้าง เพื่อเป็นการให้ข้อมูล และช่วยให้เกิดการพูดคุยในเรื่องนโยบายเหล่านี้) ขณะนี้หลายๆ โครงการในแบบ “แล็ปท็อปหนึ่งเครื่องสำหรับนักเรียนทุกคน” ได้เข้าสู่ก้าวใหม่ในการพัฒนา ทั้งยังมีการประกาศโครงการแล็ปท็อปเพื่อการศึกษาขนาดใหญ่ใหม่ๆ อีกหลายโครงการ และในขณะเดียวกัน “แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา” ได้เปลี่ยนจากความอยากทดลองใช้และความแปลกใหม่ในระบบการศึกษาหนึ่ง มาเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลักของครูและนักเรียนในอีกที่หนึ่ง ไม่กี่ปีที่ผ่านมา บล็อก EduTech ได้ออกรายชื่อ '1-to-1 educational computing initiatives around the world'  เพื่อที่จะชี้ตัวโครงการขนาดใหญ่ที่จัดหาแล็ปท็อปให้กับนักเรียนเป็นเจ้าของ แล้วอะไรๆ เกิดขึ้นอีกมากหลังจากนั้น (อย่างเห็นได้ชัด) ถึงแม้ว่าโพสต์นี้มีอายุมากกว่าสามปี ก็ยังดึงผู้เข้าชมเว็บเป็นจำนวนมาก และมีคนอ้างอิงถึงรายชื่อโครงการเหล่านั้นอยู่บ่อยครั้ง หลายคนขอให้ผมปรับปรุงรายชื่อโครงการสำคัญๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ได้ในอนาคต นี่คงมีประโยชน์บ้างต่อผู้ที่มีความสนใจทางด้านนี้  ผมจึงอยากจะนำเสนอรายชื่อบางส่วน โดยที่ไม่ได้เรียงตามลำดับ ดังนี้

โครงการแล็ปท็อปและแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาขนาดใหญ่ บทเรียนจาก 10 ประเทศ

1. สหรัฐอเมริกา
หลายประเทศมักจะเหลือบมองและตั้งใจที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับสหรัฐอเมริกา ในการพิจารณาริเริ่มใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา (ไม่ว่า จะถือเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ สำหรับประเทศมั่งคั่งน้อยกว่า หรือสำหรับประเทศที่มีบริบททางการศึกษาและมีเศรษฐกิจสังคมที่ต่างออกไป)สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ มีความหลากหลายสูง และมีระบบการศึกษาแบบกระจายอำนาจอย่างมาก (บางคนบอกว่าเป็นขุมระบบศึกษาหลายๆ ชุด) การตัดสินใจเลือกซื้อเทคโนโลยีนั้นไม่ได้เป็นนโยบายระดับประเทศ แต่อยู่ในระดับรัฐหรือระดับเขต (โดยที่มีเขตการศึกษามากกว่า 14,000 แห่งทั่วประเทศ) ซึ่งทำให้ประเทศอื่นๆ เทียบระดับมาตรฐานในประสบการณ์การใช้แล็ปท็อปและแท็บเล็ตเพื่อการศึกษากับสหรัฐลำบาก ดังนั้นการเพ่งเป้าไปที่ระดับรัฐหรือท้องถิ่นนั้นจะเป็นประโยชน์มากกว่า รัฐเมนยังคงเป็นผู้บุกเบิกการใช้แล็ปท็อปในโรงเรียนในโลก แม้ว่าองค์ประกอบบางส่วนของโครงการอาจมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง และบทเรียนจากรัฐเมน ได้ส่งผลทางความคิดต่อผู้จัดทำนโยบายในหลายๆ ที่ มีอีกสองเรื่องที่น่าพูดถึง คือ การตัดสินใจครั้งล่าสุดของกลุ่มโรงเรียนเขตการศึกษาเมืองลอสแอนเจลิส เพื่อทำการจัดซื้อไอแพดสำหรับนักเรียน (นี่เป็น ความเห็นของ Larry Cuban เมื่อประกาศโครงการ )และเจ้าหน้าที่ของ Miami Dade ในรัฐฟลอริดาที่รับรองการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิตอลได้สำหรับนักเรียนทุกคน ทั้งสองแห่งนี้มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและการวิจัยในอนาคต  แล้วยังน่าพูดถึงเรื่องการที่เขตการศึกษาหลายแห่งในสหรัฐ ได้สนับสนุนแนวความคิดเรื่องการ “นำเทคโนโลยีของตัวเอง”มาใช้มากขึ้น (bring your own technology หรือ BYOT) ซึ่งยังรู้จักกันภายใต้ชื่อ BYOD (bring your own device) อีกด้วย เพื่อเป็นการยกระดับการเข้าถึงแล็ปท็อปและแท็บเล็ตภายในโรงเรียน เรื่องนี้ได้ทำให้เกิดคำถามที่น่าใคร่ครวญหาคำตอบ ในเรื่องการลงทุน ราคา การดูแลรักษา และความปลอดภัยด้านระบบดิจิทอล และอื่นๆ

2. อุรุกวัย
อุรุกวัยเป็นประเทศแรกที่หาจัดหาแล็ปท็อปฟรีให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาทุกคนในโรงเรียนรัฐบาล ตามแผนงาน Uruguay's pioneering Plan Ceibal ซึ่งในปัจจุบันได้มาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจ ในขณะที่โครงการนี้ยังคงได้รับแรงสนุบสนุนจากประชาชนเป็นอย่างดี ภาพเด็กเล็กใช้งานแล็ปท็อป XO สีเขียวขาวของโครงการ One Laptop Per Child (OLPC) ไม่ใช่ของแปลกใหม่อีกต่อไป แต่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและวัฒนธรรม คำถามอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรในการที่จะรักษาความตื่นตัวและคงโมเมนตัมของแผนการ Plan Ceibal ไว้ให้ได้ โดยเฉพาะเมื่องานหนักจริงๆ เริ่มต้นขึ้น นั่นคือการกระตุ้นและทำให้การเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ ซึ่งก็คือ การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ

3. ไทย
ในขณะที่โครงการอื่นๆ ได้จัดหาแล็ปท็อปในการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาแบบหนึ่งต่อหนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศไทยได้ตัดสินใจเลือกใช้แท็บเล็ต โครงการนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นแนวคิดริเริ่มในการใช้แท็บเล็ตเพื่อการศึกษาขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อตอนเปิดตัว (แม้ว่าประเทศอื่นได้ชิงอันดับไปแล้ว อ่านได้จากด้านล่าง) ความพยายามของไทยเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่เช่นเดียวกับแนวคิดริเริ่มที่คล้ายกันในอีกหลายประเทศ โครงการนี้เป็นเสมือนสายล่อฟ้าที่ดึงดูดทั้ง การวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเชิงลบและในเชิงบวก

4. เปรู
เปรูได้แจกแล็ปท็อบ XO ของ OLPC เกือบหนึ่งล้านเครื่องให้กับเด็กนักเรียน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 โดยเน้นที่โรงเรียนเล็กๆ ในชุมชนที่ยากจนซึ่งมักอยู่ห่างไกล ในการสรุปบทเรียนในเปรูนั้น เพื่อนร่วมงานจาก Inter-American Development Bank (IDB) ได้มีส่วนในการ ประเมินแบบสุ่มสำรวจขนาดใหญ่ครั้งแรก เพื่อประเมินผลกระทบจากโครงการ OLPC ผลการสำรวจนี้จะเป็นอาหารทางความคิด สำหรับนักปฏิรูปการศึกษา และนักเทคโนโลยีในประเทศอื่นๆ ซึ่งหวังว่าโครงการขนาดใหญ่ในการนำเทคโนโลยีมาใช้นี้ โดยตัวมันเองจะสามารถนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีสำหรับระบบการศึกษา (ราวกับใช้เวทย์มนตร์) แต่ความเป็นจริงนั้นกลับซับซ้อนและยุ่งยากกว่าที่คิด

5. เคนยา (และรวันดา)
แม้ว่าโครงการยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ แต่แผนงานสามระยะของเคนยาในการใช้แล็ปท็อปเพื่อการศึกษา ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนมกราคมปี 2557 ก็ได้รับความสนใจจากนานาชาติเป็นอย่างมาก โดยที่โครงการจะเริ่มจากการส่งมอบแล็ปท็อปฟรีจำนวน 400,000 เครื่องให้กับนักเรียนชั้นประถมหนึ่ง หากมีการดำเนินโครงการนี้ตามที่ได้ประกาศไว้ ก็จะกลายเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา ในขณะที่เคนยามีโครงการนำร่องจำนวนหนึ่งที่กำลังไปได้ดี ความพยายามที่จะผลักดันโครงการขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่ายเลย บทเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านในแอฟริกาตะวันออก หรือประเทศรวันดา ที่ได้แจกแล็ปท็อป OLPC XO ไป 200,000 เครื่องแล้วนั้น ทั้งผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญในไนโรบีได้นำเอาบทเรียนเหล่านี้มาศึกษา และวิเคราะห์อย่างกระตือรือร้น แม้การแจกจ่ายจะยุ่งยากเพียงไหน แต่ความสำเร็จในเรื่องนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในกระบวนการเท่านั้น ไม่ใช่จุดสุดท้าย การทำให้เทคโนโลยีนี้ส่งผลดีต่อการเรียนการสอนทั้งในและนอกโรงเรียน การสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเคนยารุ่นใหม่และครอบครัว การคงไว้ซึ่งโมเมนตัมและผลดีเมื่อเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่บรรลุได้ยากกว่ามาก และหลังจากนั้นคือปัญหาว่าจะหาค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการทั้งหมดนี้ได้อย่างไรโดยไม่ไปกีดขวางความจำเป็นที่จะแก้ไขปัญหาเร่งด่วนอื่นๆ ในการศึกษาและการพัฒนา การติดตามประสบการณ์ในเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในเคนยา และนโยบายเกี่ยวข้องอื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และจำเป็นที่ต้องเฝ้าดูและติดตามไปอีกนาน

6. ตุรกี
จากการที่ประเทศไทยได้วางแผนที่จะแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนถือเป็นการสร้างศักยภาพในการเป็นผู้บุกเบิกของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง ในเรื่องการนำเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้ แต่ขนาดของโครงการในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ได้ถูกบดบังด้วยโครงการลักษณะเดียวกันจากประเทศในอีกซีกหนึ่งของทวีป นั่นคือโครงการของตุรกี ที่มีชื่อว่า FATIH หรือ Movement to Increase Opportunities and Technology โดยโครงการมีการแจกแท็บเล็ตมากกว่า 10 ล้านเครื่อง และกระดานอินเตอร์แอคทีฟ เครื่องพิมพ์และอุปกรณ์เสริมต่างๆ อีกหลายหมื่นเครื่องให้กับโรงเรียนในประเทศ โครงการนำร่องขนาดมหึมาหลายโครงการกำลังดำเนินการอยู่ เช่นเดียวกับกระบวนการ ประมูลขนาดมหึมา ในการที่จะหาผู้ดำเนินการ แตกต่างจากการดำเนินโครงการแท็บเล็ตในไทย ตุรกีนั้นได้มุ่งเน้นให้ผู้ผลิตท้องถิ่นมีบทบาทหลักในแผนงานดังกล่าวด้วย

7. อินเดีย
ก่อนจะมาถึงตุรกี หรือประเทศไทย โครงการ Aakash ของอินเดีย ได้ทำให้ฝ่ายสนับสนุนตื่นตะลึงกับตัวเลขจำนวนของแท็บเล็ตที่จะส่งถึงมือเด็กนักเรียนในประเทศที่กำลังพัฒนาแห่งนี้ โครงการได้ดำเนินไปด้วยความคึกคักและต่อเนื่อง แต่โครงการนี้เป็นเพียงหนึ่งในความพยายามอีกมากมายที่จะแจกจ่ายแท็บเล็ตและแล็ปท็อปไปทั่วประเทศที่กว้างใหญ่นี้ เร็วๆ นี้เองเพิ่งมีการประกาศแผนงานขนาดใหญ่ในรัฐราชสถาน หลังความพยายามเช่นเดียวกันที่เริ่มต้นในรัฐอุตตรประเทศ ความคิดริเริ่มที่หลายหลากในอินเดีย เป็นเรื่องน่าสนใจติดตามอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงขนาดของโครงการซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น และขณะนี้ก็มีองค์ความรู้ท้องถิ่นของวิธีการปฏิบัติที่หลากหลายอยู่มากมาย ทั้งที่ได้ผล และไม่ได้ผล ซึ่งเป็นบทเรียนมาจากโครงการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่ผ่านมา

8. อาร์เจนตินา
จากบทเรียนของโครงการรุ่นแรกในจังหวัด San Luis  ในที่สุดแล้วโครงการอีกหลายแห่งในอาร์เจนตินา ดังเช่น Conectar Igualdad และ Plan S@armiento BA ในบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา เมื่อรวมกันจะกลายเป็นโครงการที่ใหญ่กว่าโครงการ OLPC ของเปรูและอุรุกวัยรวมกันเสียอีก เมื่อพิจารณาดูถึงขนาดและความหลากหลายของโครงการในสามประเทศนี้ ผู้กำหนดนโยบายในประเทศอื่นๆ ที่สนใจจะเรียนรู้อย่างจริงจังจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ก่อนที่จะเริ่มโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาแบบหนึ่งต่อหนึ่งของตนเอง อาจทำได้แย่ยิ่งกว่า การที่พวกเขาไปเรียนภาษาสเปน (เพราะข้อมูลภาษาอังกฤษมีน้อยมาก และยิ่งน้อยกว่านั้นอีกมากในภาษาอื่น) และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรืออาจจะไปเยี่ยมเพื่อนร่วมโครงการในอเมริกาใต้นี้

9. โปรตุเกส
เป็นประเทศที่ทะเยอทะยานที่สุดในยุโรปที่จะจัดหาแล็ปท็อปให้กับนักเรียน จากประวัติศาสตร์ที่เพิ่งผ่านมา (โปรตุเกสเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งเพิ่งจะพ้นสภาพจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนาเมื่อไม่นานมานี้) ทำให้โครงการ eEscola และแผนงาน Magellan จึงน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง และเป็นบทเรียนที่มีประโยชน์ต่อประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง ที่จะดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในการจัดหาคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาแบบหนึ่งต่อหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่จะนำแนวทาง “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน” มาใช้

10. _____
และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเรื่อง lists of ten  ในบล็อก EduTech ผมตั้งใจเว้นว่างรายชื่อลำดับที่ 10 นี้ไว้ เพื่อกระตุ้นให้ได้เสริมในสิ่งที่ผมอาจจะพลาดไป (หรือไม่ได้ใส่ใจ) และเพื่อแสดงว่า ความรู้ของตัวผมนั้นไม่สมบูรณ์ครบถ้วนอย่างแน่นอน

ยังมีที่อีกหลายแห่งที่เราสามารถพบได้ถึงเรื่องราว ที่แสดงให้เห็นแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (และเลวร้ายที่สุด) หรือว่าแสดงถึงความชำนาญในการผลักดันงานไปสู่ความสำเร็จที่ไม่ได้มาโดยง่าย และหวังว่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องการลงทุน ผลกระทบ และผลตอบแทน เมื่อเร็วๆ นี้เม็กซิโกเพิ่งจะยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างแล็ปท็อปสำหรับนักเรียนจำนวน 240,000 เครื่อง แต่นี่อาจมองได้ว่าเป็นเพียงความขลุกขลักเล็กน้อยในแผนงานระยะยาว งานสำรวจอีกชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้งานเพื่อการศึกษาในภูมิภาคยุโรป ในเรื่อง One laptop per child in Europe: how near are we? ระบุได้ชัดเจนว่านักเรียนในเดนมาร์ก นอร์เวย์ ลัตเวีย หรือสเปน ได้มีการเรียนรู้ว่า การใช้แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ตต่อคนต่อเครื่องเป็นเรื่องปกติมาตรฐาน ส่วน Netbooks on the rise ได้พยายามสำรวจและกลั่นกรองบทเรียนจากประเทศในยุโรป ทางด้านประเทศออสเตรเลียซึ่งมักได้รับการพูดถึงว่าเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มแนวคิดเรื่องคอมพิวเตอร์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง (ที่ Methodist Ladies' College ย้อนกลับไปในปี 2532 กำลังใกล้จะปิดโครงการ โดยได้แจกจ่ายแล็ปท็อปจำนวนเกือบหนึ่งล้านเครื่องให้กับโรงเรียนต่างๆ ในขณะที่แท็บเล็ต  นั้น  ดูเหมือนว่ากำลังยึดพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว (หมายเหตุ: องค์กรในออสเตรเลีย The Australia-based Anytime Anywhere Learning Foundation (AALF) เป็นแหล่งข้อมูลที่ดีอีกแห่งหนึ่งสำหรับการติดตามเรื่องความพยายามในการจัดหาคอมพิวพ์เตอร์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง) บล็อก EduTechเองก่อนหน้านี้ได้เฝ้าติดตามโครงการแล็ปท็อปเพื่อการศึกษาในประเทศจอร์เจีย (หมายถึงประเทศใกล้เทือกเขาคอเคซัส ไม่ไช่รัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา) และระหว่างนี้ผมกำลังอยู่ในระหว่างการโพสต์เรื่องบทเรียนจาก Quebec's Eastern Townships ถ้าใครไม่อยากรอ ก็สามารถอ่านได้โดยตรงในชิ้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว

หมายเหตุท้ายเรื่อง

ข้อเสนอสำหรับโครงการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาขนาดใหญ่จำนวนมากที่ผมได้พบขณะนี้ ได้เน้นไปที่การนำแท็บเล็ตมาใช้ (แทบทั้งหมดเป็นการใช้งานบนระบบแอนดรอยด์ ซึ่งประเมินได้ว่าเป็นเพียงเรื่องเหตุผลด้านราคา และเพราะว่าไอแพดเป็นผู้นำในตลาดแท็บเล็ตของประเทศ OECD แต่ยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายนักในประเทศรายได้ระดับปานกลางและระดับล่าง) ผมแทบไม่พบเหตุผลอื่นใดสำหรับคำถามที่ว่า ทำไมจึงเลือกแท็บเล็ต แทนที่จะเป็นแล็ปท็อป หรือเดสก์ท็อป หรือตัวอื่นๆ สิ่งนี้ไม่ได้เป็นการพูดว่า มันไม่มีเหตุผลที่สมควรที่จะซื้อแท็บเล็ตมาใช้ในโรงเรียน (แม้ว่าเครื่องลักษณะผสมผสาน เช่นแล็ปท็อปซึ่งมีทัชสกรีน หรือแท็บเลตซึ่งมี dockable keyboards ทำให้ผมสับสนหลายต่อหลายครั้งในการจำแนกประเภทของคอมพิวเตอร์) แต่เพียงอยากจะชี้ให้เห็นว่า ตัวเลือกของเทคโนโลยีมักจะถูกผลักดันจากการตั้งสมมุติฐานมากกว่าเป็นผลจากการพิจารณาอย่างรอบคอบ แนวโน้มโดยทั่วไปทั่วโลกนั้นชัดเจนอยู่แล้วว่า คอมพิวเตอร์พีซีและแล็ปท็อปกำลังถูกแท็บเล็ตเบียดบังกลุ่มผู้บริโภคอย่างช้าๆ ผมสงสัยว่าสิ่งที่ได้เห็นในข้อเสนอโครงการเพื่อการศึกษาต่างๆ เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของการประจักษ์ครั้งล่าสุดของแนวโน้มที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั่นคือว่ามันเป็นเพียงความใคร่ที่จะซื้ออุปกรณ์อินเทรนด์ชิ้นล่าสุดมาใช้ในโรงเรียน และประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดบ่อยครั้งมากจนเกินไป ไม่ใช่คำถามที่ว่า “อะไรเป็นสิ่งท้าทายที่เราจะแก้ไข และอะไรคือเครื่องมือ และแนวทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยเราแก้ปัญหาเหล่านั้น” แต่ควรเป็น “เรารู้แล้วว่า “ทางออก” ในเรื่องเทคโนโลยีของเราคืออะไร คุณจะช่วยชี้แนะได้ไหมว่า เราจะใช้มันแก้ปัญหาให้ถูกที่ได้อย่างไรบ้าง?”

การศึกษาก็เช่นเดียวกับชีวิต คำตอบในการศึกษาที่คุณได้รับนั้นมาจากฟังก์ชันของคำถามของคุณ ในกระบวนการเรียบเรียงคำถามที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและดำเนินโครงการจัดหาแล็ปท็อปและแท็บเล็ตเสริมการเรียนการสอน (ซึ่งอนาคตอาจเป็นเครื่องมือเครื่องใช้แบบอื่นๆ) เป็นจำนวนมหาศาลเช่นนี้ ก็ได้แต่หวังว่าผู้กำหนดนโยบายการศึกษาและนักการเมือง จะใช้เวลาและความพยายามในการเรียนรู้ประสบการณ์ และบทเรียนจากประเทศอื่นๆ ซึ่งได้เดินในมาในแนวทางเดียวกัน แม้ว่าทำการเรียนรู้ทั้งในเรื่องผลบวกและผลลบ จากบางประเทศที่ได้กล่าวถึงในที่นี้ ไม่ได้รับคำตอบสำหรับทุกคำถาม แต่การตั้งคำถามแบบนี้ จะเป็นการช่วยให้ทบทวนความคิดใหม่ และตั้งกรอบคำถามที่กำลังถามอยู่เสียใหม่อีกครั้ง


Authors

Michael Trucano

Visiting Fellow, Brookings, and Global Lead for Innovation in Education, World Bank

Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000