การลงทุนเรื่องความปลอดภัยทางถนนในเชิงเศรษฐศาสตร์

This page in:
Image

แม้ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการบังคับใช้กฎระเบียบการจราจรและการรักษาพยาบาล แต่อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยนั้นยังอยู่ในระดับสูงและสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา  ในแต่ละปี ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรกว่า 24,000 คน ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุนี้เป็นภาระของประเทศ  สื่อมวลชนได้นำเสนอการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์และบุคคลจากอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีองค์กรหลายแห่งที่ออกมารณรงค์หาทางแก้ไขปัญหาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนนี้

อย่างไรก็ดี  อุบัติเหตุบนท้องถนนยังมีราคาด้านสังคมและเศรษฐกิจแฝงอยู่ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้จากแค่ตัวเลขสถิติอุบัติเหตุเท่านั้น  เรื่องอุบัติเหตุจราจรเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญทั้งเรื่องสุขภาพและความท้าทายด้านการพัฒนาต่างๆ ที่ประเทศไทยต้องจัดลำดับความสำคัญไปพร้อมๆ กัน 
 
ผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากอุบัติจราจรส่วนใหญ่มักอยู่ในวัยทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยสาเหตุการเสียชีวิตและการเป็นบุคคลทุพพลภาพระยะยาวของประชากรวัย 15-29 ปีเกิดจากอุบัติเหตุจราจรมากที่สุด อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและการสูญเสียสุขภาพที่ดีที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศยังไม่เป็นที่รับรู้กันทั่วไป การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุจราจรทางถนนในประเทศกำลังพัฒนายังทำได้ไม่ดีนักและมักใช้การเทียบเคียงตัวเลขกับประเทศที่มีรายได้สูง  การขาดความรู้ในเรื่องนี้ทำให้รัฐบาลไม่สามารถตั้งลำดับความสำคัญของนโยบายการจัดการเรื่องความปลอดภัยทางถนนโดยการวางแผนด้านสุขภาพ การคมนาคม และการพัฒนาเมืองยังได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร 
 
เพื่อลดช่องว่างดังกล่าว ธนาคารโลกได้จัดทำรายงานเรื่อง " The High Toll of Traffic Injuries: Unacceptable and Preventable" โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ รายงานนี้คาดการณ์ผลกระทบจากความปลอดภัยบนถนนที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และวิเคราะห์กรณีศึกษาจากประเทศจีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย และประเทศไทย  การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลกโดยมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ซึ่งได้ให้ทุนกว่า 259 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมาในการลดอัตราการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนถนนในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง  ผลการศึกษายังพบว่าหากอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงได้อย่างรวดเร็วจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตและรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ประชาชนยังจะได้รับสวัสดิสังคมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
 
สำหรับประเทศไทย การลดอัตราการบาดเจ็บทางถนนในปัจจุบันให้เหลือครึ่งหนึ่งสามารถแปลงเป็นรายได้ต่อหัวประชากรที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 22 ในระยะเวลา 24 ปี  แม้ว่าการศึกษานี้จะประมาณการณ์การขยายตัวของการจราจรและเครื่องยนต์ไม่สูงนัก แต่ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจความเกี่ยวข้องของการบาดเจ็บบนถนนกับเรื่องเศรษฐกิจ ในทางตรงกันข้าม หากประเทศไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปีพ.ศ. 2573 อาจทำให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
 
นอกเหนือจากผลกระทบโดยตรงต่อผลิตภาพของประเทศแล้ว การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนยังมีผลให้เกิดการสูญเสียทั้งแก่บุคคลและสวัสดิการสังคม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทุนมนุษย์ต่อไปได้ ผลกระทบในด้านนี้มักจะถูกมองข้าม  ผลจากการศึกษาจากห้าประเทศนี้พบว่า มูลค่าที่สังคมยินดีจะจ่ายเพื่อลดอัตราการบาดเจ็บจากจราจรทางถนนให้เหลือครึ่งหนึ่งภายในเวลา 24 ปีนั้นสูงถึงร้อยละ 6-32 ของจีดีพีเลยทีเดียว
 
รายงานนี้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการป้องกันการสูญเสียชีวิตผู้คนและการสูญเสียด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่นเดียวกันกับรายงานเล่มอื่นๆ ประสบการณ์จากประเทศทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าการนำนโยบายที่มีประสิทธิภาพและการเข้าแทรกแซงมาปรับใช้นั้นจะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจร รวมถึงลดผลกระทบต่อสังคมได้ นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนเท่าเทียมกับด้านสุขภาพ เนื่องจากผลกระทบในเรื่องนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมเช่นเดียวกับประเด็นด้านสุขภาพอื่นๆ อีกทั้ง ระบบสุขภาพของประเทศต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้โดยตรงเช่นเดียวกับเรื่องด้านสุขภาพอื่นๆ
 
ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องสำคัญหลายประการ ทั้งการลดโรคติดต่อ การลดอัตราการเสียชีวิตของมารดา และการเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย  การร่วมมือกันทำงานเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนนี้จะนำประโยชน์ระยะยาวทั้งด้านสาธารณสุข ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ประเทศไทยเช่นเดียวกัน
 
นายดิพาน บู๊ส ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งอาวุโส ธนาคารโลก

Authors

Dipan Bose

Senior Transport Specialist

Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000