ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านจากประเทศที่มีรายได้ต่ำไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงระดับปานกลางในเพียงแค่ช่วงหนึ่งอายุคน อัตราความยากจนลดลงเหลือร้อยละ 7.5 เมื่อปีพ.ศ. 2558 เมื่อวัดจากเส้นความยากจนของประเทศที่มีรายได้สูงระดับปานกลางโลก การเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสุขภาพเกือบจะครอบคลุมคนไทยทุกคน แต่ถึงจะมีความสำเร็จในอดีต ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนยังกังวลใจอยู่
ผลการสำรวจของ Pew Global Survey เมื่อปี พ.ศ. 2557 พบว่า คนไทยร้อยละ 90 คิดว่าช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยเป็นปัญหาที่มีนัยสำคัญ นอกจากนี้เมื่อปีพ.ศ. 2561 ผลสำรวจของ Gallup Poll พบว่ามีคนไทยเพียงแค่ร้อยละ 39 ที่คิดว่าตัวเองมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ร่วมการสำรวจในครั้งนี้ ทัศนคตินี้เกิดขึ้นเพราะไม่มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องฐานะความเป็นอยู่ หรือการปรับมุมมองเรื่องคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม
ทำไมการพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำในประทศไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญ?
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ไม่ได้เป็นที่สนใจสำหรับเราแค่ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์เท่านั้น เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลกหลังจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจทรุดตัวดังที่เห็นได้จากตลาดโลกช่วงหลังจากปีพ.ศ. 2543 จนถึงช่วงต้นปีพ.ศ. 2553 อันที่จริงแล้วมีข้อโต้แย้งมากมายว่าความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นทางสังคมในช่วงเวลานี้
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในประเทศไทย วัดจากค่าสัมประสิทธิ์ของการกระจายรายได้ (gini coefficients) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่ลดลงน้อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าความเหลื่อมล้ำลดลง หากวัดจากรายได้หรือค่าใช้จ่ายต่อหัวจนถึงปี พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ดี เมื่อปีพ.ศ. 2560 ธนาคารโลกได้ประมาณการณ์ว่าค่าสัมประสิทธิ์ของการกระจายรายได้ได้สูงขึ้นเล็กน้อยอีกครั้งเมื่อเทียบกับปีพ.ศ. 2558 อาจเป็นไปได้ว่า ประเด็นสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ การบริโภคของครัวเรือนและการเติบโตของรายได้ครัวเรือนของไทยมีความแตกต่างกันในทั่วประเทศและทุกกลุ่มรายได้ ระหว่างปีพ.ศ. 2558-2560 การบริโภคของครัวเรือนเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1.3 อย่างไรก็ดี หากวัดจากกลุ่มประชากรรายได้ล่างสุดร้อยละ 40 พบว่าการใช้จ่ายครัวเรือนลดลงร้อยละ 0.6 ในขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้เพิ่มสูงขึ้น แต่ลดลงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพฯ ประชากรบางภูมิภาคได้รับประโยชน์จากการพัฒนา ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้มุมมองและข้อเท็จจริงในเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ห่างกันมากนี้แพร่ขยายออกไปในวงกว้าง
ในแวดวงวิชาการมีการอภิปรายประเด็นใหม่เรื่อง บทบาทของความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส มีการศึกษาหลายเรื่องแสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางโอกาสมีผลกระทบด้านลบต่อการเพิ่มรายได้ในอนาคตของคนจน และส่งผลบวกแต่เฉพาะในกลุ่มคนรวย โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ยังสร้างความเสียหายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะครอบครัวที่มีรายได้น้อยไม่สามารถสะสมทุนมนุษย์ให้ลูกหลานได้เต็มที่ อีกทั้ง ทัศนคติเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสอาจทำให้คนหมดกำลังใจที่จะฝ่าฟันเพื่ออนาคตที่ดีกว่า รวมถึงการลงทุนในทุนมนุษย์ด้วย ความเสี่ยงในเรื่องนี้คือ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น ข่าวดีก็คือเราอาจมีแนวคิดที่ดีกว่าเดิมเพื่อจัดการกับเรื่องนี้ได้ หากมีการลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันแล้ว เราก็สามารถจัดการกับความเหลื่อมล้ำได้สำเร็จ
สำหรับประเทศไทยนั้นต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มการลงทุนในประชาชนให้ดีกว่าเดิม เพื่อที่จะไม่เพียงแต่เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งเป็นตัววัดว่าประเทศพัฒนาโดยรวมดีขึ้นเพียงใดแล้ว แต่เพิ่มรายได้และการบริโภคของครัวเรือนซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างไรบ้างเพิ่มเข้าไปด้วย
เราจะสามารถทำอะไรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสำหรับคนรุ่นต่อไปของประเทศไทยได้บ้าง?
รัฐบาลสามารถมีบทบาทสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันได้จากการที่ประเทศไทยได้ตั้งแผนกความเหลื่อมล้ำขึ้นภายใต้ สศช. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการเข้าถึงและบริการที่มีคุณภาพในวัยที่เด็กกำลังเริ่มต้นพัฒนาตัวเอง แม้ว่าคุณภาพการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันยังเป็นอุปสรรคสำคัญ อีกทั้งการเพิ่มจำนวนของเด็กที่เข้าศึกษาในโรงเรียนไม่ได้ส่งผลกระทบดีเท่าที่ควร ประเทศไทยมีช่องว่างด้านการเรียนรู้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มอาเซียนและกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงระดับปานกลางด้วยกัน เด็กไทยที่เกิดในวันนี้คาดว่าจะมีโอกาสศึกษาอยู่ในโรงเรียนเป็นเวลา 12.4 ปีก่อนอายุครบ 18 ปี แต่กระนั้น คาดการณ์ว่าเด็กกลุ่มนี้จะสามารถเรียนรู้ได้เทียบเท่ากับการใช้เวลาเพียง 8.6 ปีในโรงเรียนเท่านั้น โดยมีช่องว่างการเรียนรู้ 3.8 ปี
ช่องว่างด้านการเรียนรู้ของประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงการขาดแคลนครูที่มีคุณภาพและบริการด้านการศึกษาที่ไม่เพียงพอสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่าหกขวบ การที่ประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากอาจส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสูง และทำให้โรงเรียนมีคุณภาพหลากหลาย การควบรวมโรงเรียนอาจช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงเรียนได้อย่างมีนัยสำคัญ
แม้ว่าเด็กไทยจะมีสุขภาพและโภชนาการที่ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายอื่น ๆ ที่กำลังเข้ามาไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และภาวะโภชนาการเกิน ปัจจัยเสี่ยงสามลำดับแรกที่ทำให้คนไทยเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้แก่ ความเสี่ยงเรื่องอาหาร การสูบบุหรี่ และดัชนีมวลร่างกายเกินค่ามาตรฐาน ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา อัตราความชุกของผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเป็นสามและสี่เท่าตามลำดับ อีกทั้ง อัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่สูงส่งผลต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ใหญ่ คนไทยอายุ 15 ปีเพียงร้อยละ 85 เท่านั้นที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนเลยอายุ 60 ปี ทั้งนี้ อัตราการรอดชีวิตของผู้ใหญ่ในประเทศไทยยังต่ำกว่าเกณฑ์ของโลก
หากประเทศไทยเริ่มต้นลงทุนในทุนมนุษย์ตั้งแต่วันนี้ผลสะสมจากการลงทุนจะส่งผลในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า และหากการลงทุนครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำด้วยแล้ว คนไทยทุกคนจะมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่มั่งคั่งมากขึ้น
Join the Conversation