ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อเอชไอวีมากที่สุดในทวีปเอเชีย ในปัจจุบันประชากรจำนวน 440,000 คนในประเทศติดเชื้อเอชไอวี และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคฉวยโอกาสมีประมาณ 1,250 คน ต่อปี
แม้ว่าประเทศไทยเองจะได้รับการยกย่องในความพยายามที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในหมู่ผู้ขายและผู้ใช้บริการทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโครงการ 100% Condom Use แต่การตอบสนองต่อเรื่องนี้จากกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบ
ผลที่ตามมากก็คือ อัตราการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายนั้นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากประมาณร้อยละ 6 ในช่วงปลายยุค 90 สูงขึ้นถึงร้อยละ 20-30 ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยระหว่างปี 2555 ถึง 2559 คาดว่าจะมีคนติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นประมาณ 39,000 คนในประเทศ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายนับเป็นร้อยละ 44 ของกรณีผู้ติดเชื้อใหม่ โดยหนึ่งในสามของจำนวนนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ทั้งนี้สัดส่วนของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในกลุ่มผู้ติดเชื้อใหม่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นไปถึงร้อยละ 59 ภายใน 10 ปีข้างหน้าจากการคาดการณ์ของ Asian Epidemic Model
อุปสรรคของการยับยั้งการระบาดของเชื้อที่เห็นได้ชัดในหมู่ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายคือ จำนวนของคนที่เข้ารับการตรวจและการรักษานั้นยังมีน้อย ทั้งๆ ที่คนไทยสามารถรับบริการเหล่านี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย.
ประชากรชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายประมาณ 60,000 คน จากทั้งหมด 185,000 คน มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูง จากกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงนี้มีเพียง 14,000 คนเท่านั้นที่เข้ารับการตรวจ โดยพบผลบวกถึง 4,000 คน และที่แย่ไปกว่านั้นคือชายที่เข้ารับการรักษามีจำนวนเพียง 1,000 เท่านั้น
กรุงเทพฯ สามารถแก้ไขปัญหาอัตราการเข้ารับการตรวจหรือรักษาเชื้อเอชไอวีต่ำได้จาก 3 วิธีนี้
ลำดับแรก รัฐบาลจำเป็นต้องให้เพิ่มงบประมาณสำหรับการตรวจและการรักษาเชื้อเอชไอวีเบื้องต้นในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยวิธีนี้จะช่วยลดจำนวนการเสียชีวิต พร้อมทั้งลดค่าใช่จ่ายในอนาคตอีกด้วย ทุนเพิ่มเติมจำนวน 55 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐสามารถเพิ่มการให้บริการการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ถึงร้อยละ 80 และลดอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อเอชไอวี และการติดเชื้อใหม่ต่อปีได้ถึง 5,000 และ 3,700 ราย ตามลำดับ จริงแล้วๆ งบประมาณเพียง 10,000 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ก็สามารถช่วยประชากรหนึ่งคนจากการเสียชีวิตเนื่องมาจากโรคฉวยโอกาสได้แล้ว
ลำดับที่สอง การขยายบริการการตรวจและการรักษาเชื้อเอชไอวีในศูนย์การแพทย์สาธารณะต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนมากแต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ในกรุงเทพฯ มีศูนย์การแพทย์จำนวนมากกว่า 90 แห่ง ซึ่งรวมถึงคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน ไปจนถึงอนามัยชุมชนของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นแล้วการเข้าถึงบริการของประชาชนไม่ใช่ปัญหา อย่างไรก็ตามร้อยละ 75 ของการตรวจและการรักษาเชื้อเอชไอวีนั้นจำกัดอยู่เพียงแค่คลินิกวิจัยสองแห่ง โดยเครื่องมือที่ศูนย์อื่นๆ ถูกทิ้งไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์
จากการศึกษาของเราในหัวข้อ “Scaling up HIV Treatment for MSM in Bangkok: What Does It Take” ค่าใช้จ่ายต่อการตรวจเชื้อหนึ่งหน่วยของศูนย์การแพทย์สาธารณะนั้นมีราคาถูกที่สุด (15 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ) เมื่อเทียบกับคลินิกวิจัย (34 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ) และโรงพยาบาลเอกชน (40 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ) ที่มีราคาสูงกว่า ดังนั้นจะเห็นว่าศูนย์การแพทย์สาธารณะสามารถให้บริการการตรวจเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ในราคาที่ต่ำที่สุด
ในมุมมองของเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและพื้นที่ให้บริการ หน้าที่ของการตรวจและรักษาเชื้อเอชไอวีควรจะย้ายมาอยู่ที่ศูนย์การแพทย์สาธารณะ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยขยายการใช้บริการของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในกรุงเทพฯ ได้ นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังสามารถพัฒนาการบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยนำแนวปฏิบัติจากคลินิกวิจัยมาใช้ ซึ่งจะช่วยให้ศูนย์ฯ มีบรรยากาศสบายๆ น่าใช้บริการ รวมถึงเวลาทำการที่สะดวกและเจ้าหน้าที่ที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
ลำดับที่สาม และอาจจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เราจะต้องสร้างความตระหนักในเรื่องบริการการตรวจและการรักษาเชื้อเอชไอวีในหมู่ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ศูนย์สุขภาพจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องอคติและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคใหญ่ที่จะขัดขวางการขยายการบริการให้เข้าสู่กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย การใช้สื่อโซเชียลและวิธีแบบ multiple recruitment จะช่วยเชื่อมกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและบริการต่างๆ เกี่ยวกับเอชไอวีเข้าด้วยกัน การติดตามผลแบบหลายคน (Peer follow-ups) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการเชื่อมการวินิจฉัยรายบุคคลกับการรักษา
ความสำเร็จของการขยายพื้นที่บริการตรวจและรักษาเชื้อเอชไอวีจะช่วยชีวิต, รักษาสุขภาพ และป้องกันประชากรไม่ให้ติดเชื้อจากการระบาด ซึ่งศูนย์สุขภาพและกลุ่มของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายสามารถร่วมมือกันเพื่อกระตุ้นอัตราการตรวจเชื้อ นอกจากนี้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ศูนย์สุขภาพต่างๆ และชุมชน จะช่วยลดหรือแม้กระทั่งยับยั้งการระบาดของเชื้อเอชไอวีในกรุงเทพฯ ในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย เป็นต้น สุดท้ายนี้ เราอยากเห็นอัตราการติดเชื้อ อัตราการเลือกปฏิบัติ และอัตราการเสียชีวิตจากโรคเอดส์เป็นศูนย์
Join the Conversation