LGBTI ในประเทศไทย: ข้อมูลใหม่แสดงเส้นทางสู่การเป็นหนึ่งเดียว กับสังคมยิ่งกว่าที่เคย

This page in:
Image

พรุ่งนี้เป็นวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ แนวคิดหลักของงานในวันสำคัญปีนี้คือ ครอบครัว ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตพวกเราทุกคน เป็นสิ่งที่เราใส่ใจเป็นลำดับแรก และเป็นสิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด  

โดยทั่วไปแล้ว ครอบครัวมักให้การยอมรับ สนับสนุน อบรมให้เรามีทักษะในการใช้ชีวิต และช่วยให้เราได้รับโอกาสทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ไม่ว่าเราจะเป็นหญิง ชาย หรือ เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ หรือ คนที่มีสภาวะเพศกำกวม เราทุกคนก็ล้วนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความรักและการสนับสนุนจากครอบครัว แต่เป็นที่น่าเสียใจสำหรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ที่หลายคนมาจากครอบครัวที่เป็นบ่อเกิดของความรุนแรงหรือความเกลียดชัง สร้างความกดดันให้ยอมรับบรรทัดฐานที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว หรือถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือที่ครอบครัวสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้

ในบางสังคม บุคคล LGBTI สามารถเริ่มต้นชีวิตครอบครัวโดยได้รับความคุ้มครองจากสังคม แต่ยังคงมีอีกหลายประเทศที่ยังมีอุปสรรคด้านกฏหมายหรือการตีตราที่จำกัดบุคคล LGBTI ในเรื่องการมีบุตร การรับบุตรบุญธรรม และการใช้ชีวิตร่วมกัน

เนื่องในวันสากลนี้เราขอยกคำถามว่า คุณรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติแก่กลุ่ม LGBTI และเราสามารถร่วมกันช่วยผลักดันให้พวกเขาเข้ามารวมอยู่ในสังคมเดียวกับเราและปรับปรุงชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร? ทำอย่างไรที่เราจึงสามารถยุติการเลือกปฏิบัติ และสนับสนุนสิทธิและการมีส่วนร่วมของพวกเขาได้?

ขณะนี้ ประเทศไทยเป็นผู้นำในก้าวต่อไปที่สำคัญของเรื่องนี้นั่นคือ การรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และนำไปสู่แนวทางด้านนโยบาย

ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กลุ่มธนาคารโลก คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Love Frankie ซึ่งเป็นกลุ่มทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้าน LGBTI ของประเทศไทย นักวิจัยภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ได้รวบรวมความคิดเห็นของคนที่เป็นและไม่เป็นบุคคล LGBTI ทั้งจากในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและชนบท ประสบการณ์ชีวิตจากการตอบแบบสอบถามของบุคคล LGBTI จำนวน 2,302 ถูกนำมาเปรียบกับผู้ที่ไม่ใช่บุคคลLGBTI 1,200 ในประเทศไทย

จากการที่มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามงานวิจัยครั้งนี้เป็นจำนวนมากทำให้ผลการศึกษามีความหมายในเชิงสถิติอย่างมีนัยสำคัญซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า กลุ่มบุคคล LGBTI ต้องยอมอดทนกับความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและการถูกเลือกปฏิบัติโดยปราศจากความละอาย บุคคล LGBTI ถูกแบ่งแยกจากหลายเรื่องในชีวิตทั้งเรื่องการศึกษา การดูแลสุขภาพ การได้รับสินเชื่อและการเงิน (รวมถึงการทำประกันชีวิตและสุขภาพ) การเข้าถึงที่อยู่อาศัย ตลาดงาน และในที่ทำงาน

ผู้ตอบแบบสอบถาม LGBTI 45% ไม่ประสบความสำเร็จในการสมัครงานเพราะอัตลักษณ์การเป็นบุคคล LGBTI ในขณะที่ 53%  มีปัญหาด้านอารมณ์อันเป็นผลโดยตรงจากการถูกเลือกปฏิบัติ อาทิ อาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวลโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือ อาการคับข้องใจ เกือบครึ่งหนึ่งของบุคคล LGBTI ที่ตอบแบบสอบถามเล่าว่าไม่สามารถแสดงความสามารถที่แท้จริงได้ในที่ทำงานได้อย่างเต็มที่

ประเด็นสำคัญที่พบจากการวิจัยคือชาว LGBTI มีความทุกข์แตกต่างกันไป คนข้ามเพศทั้งหญิงและชายเป็นกลุ่มที่มีความทุกข์มากที่สุด ในขณะที่เลสเบี้ยนและหญิงที่เป็นไบเซ็กชวล ถูกเลือกปฏิบัติและถูกแบ่งแยกออกจากสังคมมากกว่าเกย์ หรือชายที่เป็นไบเซ็กชวล งานวิจัยนี้ยังพบประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งว่า ชาว LGBTI หลายคนได้รับความบีบคั้นทางจิตใจอย่างหนักจากการถูกปฏิเสธจากเพื่อน พ่อแม่ ครอบครัว และคนอื่นๆ ในสังคม

Image

อย่างไรก็ดี ข้อค้นพบจากการวิจัยครั้งนี้ มิได้มีแต่ด้านร้ายอย่างเดียว บุคคล LGBTI เลือกที่จะเล่าให้ครอบครัวและเพื่อนฟังเมื่อถูกเลือกปฏิบัติ มากกว่าที่จะรายงานตามกลไกการร้องเรียน หรือตามหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากครอบครัวและเพื่อนๆ ยอมรับและรักในสิ่งที่พวกเขาเป็น หญิงข้ามเพศวัย 31 ได้แบ่งปันประสบการณ์ของเธอให้เราฟังว่า

พ่อแม่เป็นครู ... การที่ได้เกิดเป็นลูกของท่าน ท่านรักฉัน รักฉันมากเลย และยอมรับในตัวฉัน พวกเขาเห็นมาตั้งแต่ฉันยังเด็กว่าแม้จะเกิดเป็นผู้ชาย แต่ก็เป็นคนตัวเล็ก ฉันไม่เคยมีปัญหากับพ่อแม่เลย พวกเขายอมรับฉันอย่างหมดใจ ฉันคิดว่าฉันโชคดีในเรื่องนี้

ใช่เธอโชคดีและที่โชคดีไปยิ่งกว่านั้นคือ การที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งสังคมได้เริ่มตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับประสบการณ์ของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ คือ เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และผู้มีสภาวะเพศกำกวม รวมถึงการออกกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศเพื่อปกป้องบุคคล LGBTI ถึงแม้ว่าบุคคล LGBTI เพียงแค่ 30% เท่านั้นที่รู้เรื่องกฎหมายฉบับนี้

การรณรงค์ให้เกิดการตระหนักรู้ในเรื่องนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ รวมถึงการนำกฎหมายไปใช้ และสนับสนุนให้บุคคล LGBTI ได้ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมทั่วทั้งประเทศ หากปรับปรุงการตระหนักรู้ของคนทั่วไปในเรื่องนี้ได้แล้วนั้น นโยบายและโครงการของภาครัฐก็จะช่วยปกป้องและรวมบุคคล LGBTI เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทั้งที่โรงเรียน ที่ทำงาน และเรื่องอื่นๆ ในชีวิต ผลดีที่จะได้รับตามมาก็คือ กำลังแรงงานที่มีการศึกษาดีขึ้นและมีผลการทำงานที่ดีกว่าเดิม นอกจากนี้ยังทำให้สังคมทั้งหมดมีความสุขและดีกว่าที่เคยเป็นมา

เนื่องในวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศจะเริ่มฉลองในวันพรุ่งนี้ เราอยากเชิญชวนทุกท่านร่วมกันขอบคุณ ให้เกียรติ และฉลองให้กับครอบครัวและสัมพันธภาพที่บุคคล LGBTI ได้รับ ได้สร้าง หรือเลือกแล้วท่ามกลางความหลากหลายของพวกเขาทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

บล็อกนี้ได้ตีพิมพ์เป็นบทความลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


Authors

Ulrich Zachau

Director of the World Bank for Colombia and Venezuela.

Clifton Cortez

Global Adviser on Sexual Orientation and Gender Identity (SOGI)

Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000