ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครัวเรือนในประเทศไทย – ข้อมูลเชิงลึกจากการสำรวจแบบเร่งด่วนทางโทรศัพท์

This page in:
Impact of COVID-19 on Thailand's households Impact of COVID-19 on Thailand's households

เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่สองที่มีรายงานกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ออกมาตรการที่หลากหลาย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความฉับไว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสาธารณสุข การคุ้มครองทางสังคม หรือนโยบายการคลังมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มงวดและเร่งด่วนนี้สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้มีจำนวนน้อยเป็นผลสำเร็จ (จนถึงเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 3,800 รายและผู้เสียชีวิตเพียง 59 ราย)

ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2563 รัฐบาลไทยออกพระราชกำหนดกู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข บรรเทาความทุกข์ยาก และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ตัวเลขประเมินระบุว่าประชาชนชาวไทย 44 ล้านคนได้รับประโยชน์จากโครงการสังคมสงเคราะห์และประกันสังคมระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของโรค อัตราความยากจนของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากร้อยละ 6.2 ในปี พ.ศ. 2562 เป็นร้อยละ 6.4 ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งหากปราศจากโครงการเยียวยาข้างต้น อัตราความยากจนของประเทศก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 7.4 ในปี พ.ศ. 2563

แต่เดิมมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเริ่มฟื้นตัวในปี พ.ศ. 2564 ทว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19ระลอกต่อๆ มา กอปรกับการค้นพบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่และบริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมใหม่ที่เข้มงวด ด้วยเหตุนี้ จึงมีการประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวคืนสู่ระดับเดิมก่อนหน้าการแพร่ระบาดจนกระทั่งปี พ.ศ. 2566 และเมื่อการฟื้นฟูเป็นไปอย่างช้าๆ เช่นนี้ กลุ่มที่มีความเปราะบางจึงจำต้องแบกรับภาระมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องผลกระทบของโควิด-19 ต่อประชากรชาวไทย ธนาคารโลกร่วมกับแกลลัพ โพล (Gallup Poll) ได้ทำการสำรวจแบบเร่งด่วนทางโทรศัพท์ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน ถึง วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564  เป็นการสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,000 คนผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Computer Assisted Telephone Interviews) ซึ่งผู้ให้ข้อมูลจะต้องตอบคำถามทั้งส่วนของตนเองและครัวเรือน อาทิ อาชีพการงานปัจจุบัน รายได้ ความมั่นคงทางอาหาร การเข้าถึงบริการสุขภาพและวัคซีนโควิด-19 

เมื่อประเทศไทยประสบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สี่ในปี พ.ศ. 2564 กลุ่มเปราะบางจึงได้รับผลกระทบแล้วมีการฟื้นตัวที่ช้าลงมากกว่ากลุ่มอื่น อัตราการจ้างงานโดยรวมของประเทศยังคงตัวอยู่ที่ร้อยละ 68 นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาด แม้อัตรานี้จะแตกต่างไปบ้างตามกลุ่มประชากรและภูมิภาคต่างๆ แม้การจ้างงานในเมืองจะลดลง การจ้างงานในแถบชนบทกลับเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้คนที่ต้องออกจากงานในตัวเมืองหวนคืนสู่ภาคการเกษตร ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 50 กล่าวว่างานของตนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บางคนต้องออกจากงาน บ้างถูกลดจำนวนชั่วโมงทำงานหรือค่าตอบแทนลง ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ผู้หญิง ผู้มีการศึกษาไม่สูงนัก และผู้ที่อาศัยอยู่ภาคใต้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีครอบครัวและผู้มีบุตรหลานก็ต้องแบกรับภาระด้านการเลี้ยงดูเพิ่มเติมในช่วงการระบาดอีกด้วย

การสำรวจบ่งชี้ว่าครัวเรือนกว่าร้อยละ 70 ประสบปัญหารายได้ลดน้อยลง แม้การจ้างงานในแถบชนบทจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ทว่าครัวเรือนในแถบชนบทและกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำร้อยละ 80 กลับให้สัมภาษณ์ว่าเผชิญกับปัญหารายได้ลดน้อยลง ผู้คนกว่าครึ่งที่ทำงานในภาคการเกษตรและภาคอื่นๆ นอกเหนือจากภาคการเกษตรต่างสูญเสียรายได้กว่ากึ่งหนึ่ง รายได้ที่ลดลงนี้ส่งผลให้จำนวนผู้เข้ารับสวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐในปี พ.ศ. 2563 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2562 ถึงเกือบสองเท่า และครอบคลุมครัวเรือนทั้งหมดกว่าร้อยละ 80 รัฐบาลไทยริเริ่มโครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อช่วยเหลือกิจการนอกภาคการเกษตร หากซื้อกับผู้ขายและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ผู้ซื้อสินค้าจะต้องจ่ายค่าสินค้าเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพการเกษตรจะได้รับเงินเยียวยาจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่เข้าถึงเกษตรกรกว่าร้อยละ 80 และมอบเงินเยียวยารายเดือนแก่แรงงานนอกระบบและแรงงานอิสระ รวมถึงโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่คล้ายคลึงกันซึ่งให้ความช่วยเหลือครอบคลุมเกษตรกรกว่าร้อยละ 63

ทั้งนี้ ความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่อาจหักล้างการใช้กลไกการรับมือกับปัญหาในทางลบโดยเฉพาะในหมู่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ รายได้ที่ลดลงบีบบังคับให้ครัวเรือนจำต้องลดการบริโภคอาหารและสิ่งอุปโภคบริโภคอื่นๆ ตามไปด้วย ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำและผู้หญิงในครัวเรือนที่มีบุตรกว่าร้อยละ 60 ขาดแคลนอาหารประทังชีวิต ร้อยละ 40 ต้องฝืนทนกับความหิวโหยโดยไม่รับประทานอาหาร สัดส่วนของประชาชนที่ไม่รับประทานอาหารเลยตลอดทั้งวันในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่าถึงสี่เท่า ครัวเรือนที่ให้สัมภาษณ์กว่าครึ่งยังวิตกกังวลว่าตนอาจไม่มีทุนรอนพอจะซื้ออาหารประทังชีวิตในสัปดาห์หน้า

ความหวาดกลัวการติดเชื้อโควิด-19 และการขาดแคลนทุนทรัพย์คือเหตุผลหลักที่ทำให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยเป็นไปอย่างจำกัดระหว่างช่วงการระบาด แม้ผู้ให้ข้อมูลกว่าครึ่งจะชี้ว่ามีศูนย์ตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ตั้งอยู่ภายในชุมชนของตน แต่การเข้าถึงและการใช้บริการศูนย์ดังกล่าวก็ยังเป็นไปอย่างจำกัด มีผู้ให้ข้อมูลเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่เข้ารับบริการการตรวจหาเชื้อ ประชาชนส่วนใหญ่ทราบและตระหนักดีว่ามีการจัดสรรฉีดวัคซีนโควิด-19 และสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีน แต่ถึงกระนั้น อัตราการฉีดวัคซีนก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ในหมู่ผู้มีการศึกษาไม่สูงและมีรายได้ต่ำ รวมถึงกลุ่มเยาวชนก็มีความลังเลเรื่องการเข้ารับการฉีดวัคซีนอยู่มาก อันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงเป็นสำคัญ

การระบาดยังคงสร้างประเด็นท้าทายแก่การศึกษาของเด็กอีกด้วย ครัวเรือนที่ให้สัมภาษณ์ร้อยละ 90 มีบุตรหลานในวัยเรียนซึ่งเข้าเรียนช่วงภาคการศึกษาที่ผ่านมา ครึ่งหนึ่งเข้าเรียนในระบบผสม ในขณะที่อีกร้อยละ 25 เข้าเรียนในชั้นเรียนจริงตามปกติ ข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่งก็คือครัวเรือนชนบท ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ และครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้มีสัดส่วนบุตรหลานที่เข้าเรียนในภาคการศึกษาที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ ครัวเรือนเหล่านี้ต่างกล่าวว่าความกังวลเรื่องความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส การขาดแคลนทุนทรัพย์ และความไม่พร้อมของโรงเรียนล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุหลักที่ตนยังไม่อยากส่งบุตรหลานกลับเข้าเรียน ครัวเรือนกว่าครึ่งหนึ่งรายงานว่าเด็กๆ ประสบปัญหาในการเรียนระหว่างช่วงการระบาดเนื่องจากขาดสมาธิ หากไม่มีผู้ใหญ่คอยกำกับดูแลอีกทอดหนึ่ง และปัญหาเรื่องไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน นอกจากนั้นแล้ว เนื่องด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนและการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาทางไกล เด็กในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำและครัวเรือนชนบทจึงอาจประสบกับปัญหาทางการศึกษามากกว่าเด็กในครัวเรือนอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผลกระทบทางลบต่อทุนมนุษย์นี้อาจส่งผลให้เกิดความยากจนและความไม่เท่าเทียมในระยะยาวได้

เมื่อพิจารณาปัญหาอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นโยบายที่นับรวมสมาชิกทุกกลุ่มและเน้นกลุ่มที่มีความเปราะบางจึงสมควรได้รับการจัดลำดับความสำคัญสูงสุด นอกเหนือจากนั้นแล้ว ยังสมควรมีการปรับปรุงการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและมาตรการสื่อสารทางสุขภาพสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนทั้งหลายสามารถใช้ชีวิตได้เทียบเคียงกับสภาวะปกติมากยิ่งขึ้น หากดำเนินการไปในแนวทางลักษณะนี้ ประเทศไทยก็จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเรียกคืนแรงผลักดันในการลดความยากจนได้ดังเดิม
 


Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000