ประเทศไทยเพิ่งประกาศโครงการช่วยเหลือทางสังคมเพื่อครัวเรือนที่ยากจน โครงการนี้จะสามารถลดความยากจนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่รายได้ปานกลางซึ่งมีโครงการ “ตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม” ให้กับคนยากจนเช่นเดียวกับประเทศจีน มาเลเซีย บราซิล ตุรกี และฟิลิปปินส์.
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินช่วยเหลือมูลค่า 42,000 ล้านบาทพื่อกลุ่มคนยากจนที่สุด และให้เงินอุดหนุนในเรื่องอื่นๆ อีกกว่า 12 ล้านบาทแก่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย สำหรับหลายครัวเรือนยากจนของไทยนั้น การได้รับความช่วยเหลือทางสังคมอย่างสม่ำเสมอหมายถึงลูกๆ สามารถเรียนหนังสือจนจบ หรือ ไม่ต้องเข้านอนทั้งที่ท้องยังหิว สำหรับเกษตรกรแล้ว ความช่วยเหลือนี้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนอันเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งอาจทำให้ต้องสูญเสียเงินที่เก็บออมมาตลอดชีวิต
การศึกษาจากทั่วโลกแนะนำว่าการให้ความช่วยเหลือทางการเงินสามารถช่วยให้ครอบครัวยากจนได้รับสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน อาทิ อาหาร การดูแลสุขภาพ และการศึกษา โดยที่ผู้ได้รับความช่วยเหลือนั้นก็ยังคงทำงานหนักแม้ว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือแล้วก็ตาม ผลการศึกษานี้ได้ลบความกังวลที่ว่าการให้ความช่วยเหลือทางการเงินรูปแบบนี้จะทำให้ผู้รับไม่พยายามช่วยเหลือตัวเอง นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า การช่วยเหลือรูปแบบนี้ได้ช่วยปรับปรุงผลลัพธ์ด้านโภชนาการ และการศึกษา รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวบุคคลและชุมชนเพื่อรับมือกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลให้ลดอัตราความยากจนและความเหลื่อมล้ำในที่สุด
แต่ทว่าผลการศึกษาจากรายงานล่าสุดของธนาคารโลกเรื่องการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นระบบพบว่ากุญแจสำคัญคือ การเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง โครงการให้ความช่วยเหลือทางสังคมที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้นต้องระบุกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดได้อย่างเที่ยงตรงและคงที่
ความท้าทายของประเด็นนี้อยู่ตรงไหน การตรวจสอบรายได้ของครัวเรือนไทยทำได้ยากเนื่องจากคนส่วนมากเป็นแรงงานนอกระบบ แต่ประสบการณ์จากต่างประเทศอาจช่วยในเรื่องนี้ได้
แม้ว่าการแจ้งรายได้อาจไม่น่าเชื่อถือ แต่ข้อมูลอื่น ๆ อาทิ สถานภาพของการเป็นเจ้าของที่ดิน และยานพาหนะ ระดับการศึกษาในกรณีผู้ใหญ่ จำนวนสมาชิกครอบครัวที่มีตัวตน รวมถึงสภาวะทุพพลภาพล้วนเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ แต่ละประเทศมีวิธีตรวจสอบตัวชี้วัดที่ไม่ใช่รายได้แตกต่างกันไป บางประเทศใช้วิธีเรียบง่ายด้วยการนับตัวชี้วัดด้านสวัสดิการสังคมที่แต่แต่ละครอบครัวได้รับ บางประเทศอาจใช้การคำนวณที่ซับซ้อนด้วยการกำหนดระดับความสำคัญของปัจจัยต่าง ๆ เพื่อใช้คาดคะเนความยากจนของแต่ละครัวเรือน ไม่ว่าจะเลือกวิธีแบบใด ประเทศต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ของคนในชุมชนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ได้ ประเทศไทยก็ใช้ข้อมูลในเรื่องสถานภาพการจ้างงาน การครอบครองทรัพย์สิน และเงินออมเพื่อเป็นตัวบ่งชี้ว่าใครเป็นผู้มีรายได้น้อย
ประเทศกำลังพัฒนาได้ใช้ฐานข้อมูลทะเบียนทางสังคมเพื่อยืนยันความถูกต้องของตัวชี้วัดด้านสวัสดิการของครัวเรือน ระบบข้อมูลนี้สามารถตรวจสอบตัวชี้วัดด้านสวัสดิการสังคมของแต่ละครัวเรือนได้ตังแต่การเป็นเจ้าของที่ดินและรถยนต์ไปจนถึงการเข้าร่วมระบบประกันสังคม และโครงการภาครัฐอื่นๆ ก็สามารถใช้ฐานข้อมูลนี้ร่วมกันได้
การจัดการฐานข้อมูลทะเบียนทางสังคมนั้นไม่ได้มีแต่ข้อมูลของผู้ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการเท่านั้น หากควรครอบคลุมประชากรเกือบทุกคน ปากีสถานมีฐานข้อมูลทะเบียนทางสังคมครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 90 ส่วนฟิลิปปินส์และชิลีมีฐานข้อมูลครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 75 ในขณะที่ตุรกีนั้นมีระบบตรวจสอบยืนยันข้อมูลของภาครัฐมากกว่า 28 ฐานข้อมูลซึ่งจะยืนยันความถูกต้องของข้อมูลของแต่ละครอบครัวได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ หลายหน่วยงานได้ใช้ฐานข้อมูลทะเบียนทางสังคมนี้เป็นหนึ่งในกฏเกณฑ์เพื่อมีสิทธิเข้าร่วมโครงการอื่น ๆ หลายประเทศได้ใช้แนวทางเดียวกันนี้กับโครงการอื่นๆ เช่น 80 โครงการในชิลี มากกว่า 50 โครงการในฟิลิปปินส์ และประมาณ 30 โครงการในประเทศโคลัมเบีย ปากีสถาน และบราซิล
ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การจัดตั้งฐานข้อมูลทะเบียนทางสังคมของประเทศ เริ่มจากฐานข้อมูลครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผนวกรวมกับข้อมูลโครงการสวัสดิการสังคมต่างๆ ที่มีอยู่ รัฐบาลได้เริ่มต้นสร้างฐานข้อมูลจากเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เมื่อปีที่ผ่านมา ข้อมูลนี้ช่วยให้รัฐบาลประมาณการณ์ได้ว่ามีประชาชนกว่า 650,000 คนขาดคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือจากโครงการด้านการเกษตรแล้ว หรือบางคนมีเงินสดและทรัพย์สินที่ไม่สามารถจัดว่าเป็นคนจนได้ ระบบนี้กำลังต่อยอดระบบ e-payment เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความสะดวก
นับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับประเทศไทยที่กำลังหาแนวทางเพื่อสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการและความคาดหวังของประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ภารกิจนี้อาจไม่ง่ายนักและต้องรับมือกับความกดดันในเรื่องทรัพยากรของภาครัฐ ความท้าทายในการออกแบบและดำเนินงาน รวมถึงความต้องการใหม่ๆ ในการประสานงานระหว่างหน่วยงาน
ประเทศไทยกำลังก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง และยังสามารถสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ให้บริการคนไทยได้ดียิ่งขึ้นและช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายในการลดความยากจนในอนาคต
Join the Conversation