ให้การศึกษาที่ดีกว่าแก่เด็กในโรงเรียนขนาดเล็ก

This page in:

Image

ระหว่างที่ผมและดิลกะเดินทางไปทำงานที่จังหวัดอุดรธานี เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนขนาดเล็กนอกตัวเมือง  โรงเรียนเหล่านี้ก็เหมือนกับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่กว่า 15,000 แห่งในประเทศไทย ซึ่งมีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน

หากเป็นเมื่อสิบปีก่อน โรงเรียนแต่ละแห่งนี้จะมีจำนวนนักเรียนมากกว่านี้ถึงสามเท่า แต่เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนนักเรียนได้ลดลงเนื่องจากอัตราการเกิดลดลงมาก นอกจากนี้ การคมนาคมที่สะดวกขึ้นทำให้บางครอบครัวสามารถส่งลูกไปโรงเรียนที่ดีกว่าในตัวเมืองอุดรธานีได้

นอกจากโรงเรียนที่เราไปเยี่ยมแล้วก็ยังมีโรงเรียนอื่นๆ อีกที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันอีกเจ็ดแห่งในรัศมีระยะสามกิโลเมตร หลายโรงเรียนในกลุ่มนี้ได้ลดขนาดลงเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก

โรงเรียนหลายแห่งอยู่ในภาวะขาดครูที่จะให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่นักเรียน เนื่องจากโรงเรียนอยู่ในภาวะลำบากที่จะดึงดูดหรือรักษาครูที่มีคุณภาพเอาไว้ไ ระหว่างที่เราได้เยี่ยมชมโรงเรียนนั้น ครูใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า โรงเรียนขาดครูสอนภาษาอังกฤษที่เก่ง ครูหลายคนเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย และยังไม่มีประสบการณ์การสอน  นอกจากนี้ครูใหญ่ยังเกรงว่าครูใหม่เหล่านี้จะสอนที่โรงเรียนได้ไม่นาน จากนั้นจะหาทางย้ายไปบรรจุที่โรงเรียนอื่นๆ ที่อยู่ในเมืองหรือเขตเมือง

ปีนี้จะมีเด็กล้านคนที่เข้าเรียนโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตชนบทของประเทศไทย เด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน และอาจไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพพอที่จะเตรียมให้เด็กเหล่านี้เข้าสู่โลกการทำงานยุคใหม่ได้

ผลสอบ PISA ปีพ.ศ. 2558 ซึ่งวัดผลนักเรียนอายุ 15 ปีด้านวิทยาศาสตร์ เลข และทักษะการอ่านพบว่า นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กมีทักษะด้อยกว่านักเรียนชั้นเดียวกันในเมืองใหญ่ ตัวอย่างเช่น ผลการวัดด้านวิทยาศาสตร์พบว่านักเรียนในชนบทมีความรู้ล้าหลังกว่านักเรียนชั้นเดียวกันในเมืองเทียบเท่ามากกว่า 1 ปีการศึกษาในโรงเรียน  ส่วนความสามารถในการอ่านนั้นยิ่งมีช่องว่างกว้างยิ่งกว่าระหว่างเด็กในชนบทกับในเขตเมือง  มากกว่าครึ่งของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทอ่านหนังสือออกแต่จับใจความไม่ได้ เด็กต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อทำความเข้าใจความหมายในเรื่องที่เขาอ่าน นอกจากนี้เด็กเหล่านี้ยังมีน้อยคนที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ 

ประเทศไทยยังสามารถช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กเหล่านี้ให้เข้าสู่การแข่งขันในโลกทำงานได้อีกมาก  นอกจากนี้ ถ้าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นการแข่งขันอีกครั้ง การช่วยให้เด็กมีความพร้อมในด้านทักษะการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์เหตุผล และภาษาอังกฤษจะเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของประเทศไทย ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวที่รวยหรือจน  เด็กทุกคนควรได้รับโอกาสในชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน นั่นคือ โอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ

กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนการศึกษาชาติแห่งชาติ 20 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศเมื่อปีที่ผ่านมาว่าจะทำการควบรวมทรัพยากรด้านการเรียนการสอนจากโรงเรียนขนาดเล็กกับโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียงกัน  โดยสพฐ. คาดว่าจะมีโรงเรียนเล็กประมาณ 10,971 แห่งที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ในปีถัดไป

การดำเนินการตามแผนควบรวมที่ทางสพฐ. ได้วางแผนไว้นี้นับว่าเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่มาก เนื่องจากจะมีผลกระทบกับนักเรียนกว่า 640,000 คน และครูอีก 56,000 คน รวมทั้งครูใหญ่ของโรงเรียน 10,971 แห่งซึ่งอาจจะไม่ได้รับตำแหน่งเดิมหลังจากการควบรวม

หากไม่นับเรื่องความลำบากในการปิดโรงเรียนบางแห่งและเพิ่มทรัพยากรด้านการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนอื่นแล้ว  ระบบการควบรวมโรงเรียนในไทยซึ่งจะลดจำนวนโรงเรียนจาก 30,000 แห่งเหลือ 15,800 แห่งนี้อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ที่ดีที่สุดให้แก่เด็กด้อยโอกาส

โชคดีที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง และจากประเทศอื่นๆ ในโลก อาทิ จีนและอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันออก

ประการแรก ชุมชนสามารถเป็นผู้นำกระบวนการตัดสินใจควบรวมโรงเรียน โดยมีภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน ให้คำแนะนำ ให้การส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจ  โดยชุมชนจะตัดสินใจผ่านคำถามสำคัญที่ภาครัฐเป็นผู้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนได้ อาทิ มีทางเลือกใดในการเดินทางที่ปลอดภัยสำหรับเด็กที่ต้องย้ายไปโรงเรียนใหม่บ้าง ครอบครัวจะจ่ายค่าเดินทางไหวไหม หรือค่าเดินทางจะฟรี?  โรงเรียนที่ไม่ถูกยุบจะยังคงมีอุปกรณ์การศึกษาเหมือนเดิมหรือเพิ่มขึ้น? ครูจะได้รับการอบรมเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถดูแลเด็กที่มาจากพื้นฐานที่แตกต่างกันหรือไม่?  เด็กที่ต้องย้ายโรงเรียนจะได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมอะไรบ้าง? ชุมชนจะสามารถปรับโรงเรียนที่ถูกยุบให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ก่อนวัยเรียนได้หรือไม่?

ประการที่สอง ครูและครูใหญ่ที่ปัจจุบันทำงานในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทได้อุทิศชีวิตของพวกเขาเพื่อให้การศึกษาแก่เด็กมานาน พวกเขาอาจรู้สึกกระวนกระวายใจเรื่องความเป็นไปได้ที่โรงเรียนที่เขาสอนอยู่จะถูกควบรวม

ข่าวดีก็คือ ประเทศไทยยังต้องการครูที่มีอยู่ทั้งหมดเพียงแค่ไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่พวกเขากำลังทำงานอยู่ในปัจจุบัน ในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาทั่วโลกนั้น การตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาและโรงเรียนมักจะเป็นเรื่องยากที่สุดเสมอ

การศึกษามักจะเป็นรูปแบบการสนับสนุนที่รัฐบาลให้สำหรับครอบครัวมากที่สุด และโรงเรียนกับเด็กที่อยู่ภายในจะ เป็นหัวใจสำคัญของหมู่บ้านและชุมชนเล็กๆ เหล่านั้น

การหาทางออกเพื่อช่วยเด็กไทยในชนบทให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพสูงเช่นเดียวกับเด็กในเมืองนับเป็นเรื่องสำคัญมาก และคือความมุ่งมั่นในระยะยาวที่สำคัญและจำเป็นของรัฐบาลชุดนี้และในอนาคต เราหวังว่ารัฐบาลและ สพฐ. จะดำเนินแผนการนี้ต่อไปด้วยความรอบคอบ แผนการที่มุ่งมั่นนี้นับเป็นคำสัญญาให้ไว้กับทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศไทย นั่นคือ เด็กไทยทุกคน

 

บล็อกนี้ได้ตีพิมพ์เป็นบทความลงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์


Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000