การศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อเด็กนักเรียนไทยอีกหนึ่งล้านคนในโรงเรียนขนาดเล็ก

This page in:
Image

ผลการทดสอบล่าสุดของโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ส่งสัญญาณเตือนประเทศไทยหลายอย่าง
 
ประการแรกคือ ลำดับของประเทศไทยตกลงกว่าเดิม (การอ่านตกจากลำดับที่ 51 ไปอยู่ที่ 64 คณิตศาสตร์จากลำดับที่ 50 ตกไปที่ 55 และวิทยาศาสตร์จากลำดับที่ 50 ตกไปที่ลำดับ 54)
 
ประการที่สอง ระบบการศึกษาส่งผลให้เกิดนักเรียนจำนวนเล็กน้อยที่มีผลการทดสอบสูงกว่าค่าเฉลี่ย กล่าวคือ มีนักเรียนไทยแค่ร้อยละ 1.4  ที่มีทักษะการแก้ไขปัญหา และการวิเคราะห์เหตุผลที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย  ในขณะที่นักเรียนสิงคโปร์มีร้อยละ 35 และนักเรียนในกลุ่มประเทศ OECD อยู่ที่ร้อยละ 15
 
ประการสุดท้าย จำนวนนักเรียนไทยที่อ่านหนังสือออกแต่ไม่เข้าใจเนื้อหาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 ในปี พ.ศ. 2555 เป็นร้อยละ 50 ในปี พ .. 2558.
 
แต่ทว่าเบื้องหลังตัวเลขนี้คือแนวโน้มที่เราต้องตระหนักด้วยว่า ยังมีนักเรียนไทยในโรงเรียนขนาดเล็กที่ล้าหลังนักเรียนที่เรียนชั้นเดียวกันในโรงเรียนที่ใหญ่กว่า แนวโน้มนี้ได้เริ่มเกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2547–2555 ตามที่ธนาคารโลกได้เน้นย้ำในรายงานเรื่อง การศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคน แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี พ.ศ. 2555-2558
 
ในปีนี้ เด็กไทยอีกเกือบหนึ่งล้านคนจะเข้าศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท เด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน และคุณภาพการศึกษาที่เด็กเหล่านี้จะได้รับไม่เพียงพอที่จะเตรียมพวกเขาเข้าสู่โลกการทำงานยุคใหม่
 
อันที่จริง ประเทศไทยยังสามารถทำอะไรได้อีกมากเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กเพื่อเป็นกำลังแรงงานที่แข่งขันได้ในอนาคต ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศไทยได้กลับเข้าสู่ยุคของการแข่งขันอีกครั้ง เด็กไทยยิ่งต้องมีความพร้อมในทักษะด้านการแก้ไขปัญหา การวิเคราะห์เหตุผล และภาษาอังกฤษ หากประเทศไทยต้องการให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตและลดความเหลี่ยมล้ำ เด็กไทยที่มาจากครอบครัวยากจนต้องได้รับโอกาสในชีวิตที่เท่าเทียมกับเด็กอื่นๆ มากกว่าเดิม รวมถึงโอกาสที่จะได้รับการศึกษาแบบเดียวกับที่เด็กในกรุงเทพฯได้รับ
 
ทำไมเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กจึงมีผลการศึกษาตามหลังเด็กในโรงเรียนอื่น? ผลการวิจัยของเราพบว่ามีเหตุผลหลักสองประการ
 
ประการแรก การให้บริการของศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนในชนบทยังไม่มีคุณภาพเพียงพอส่งผลให้นักเรียนในชนบทจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลและได้รับการกระตุ้นการเรียนรู้ที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กมีความพร้อมสำหรับเข้าโรงเรียนเมื่ออายุครบหกขวบ  ยิ่งเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจไม่ดี ยิ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลและการกระตุ้นการเรียนรู้ เนื่องจากเด็กอาจจะไม่ได้รับการดูแลในเรื่องดังกล่าวนี้จากครอบครัว
 
ประการที่สอง โรงเรียนขนาดเล็กยากที่จะดึงดูดและรักษาครูที่มีคุณภาพ โรงเรียนเหล่านี้มีการขาดแคลนครูเรื้อรัง และครูบางส่วนที่มีอยู่นั้นก็ไม่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับครูในโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงแห่งอื่นในประเทศ ตัวอย่างเช่น ร้อยละ 20 ของครูในกรุงเทพฯ จบการศึกษาระดับปริญญาโท ในขณะที่ครูเพียงร้อยละ 9 ของจังหวัดที่ยากจนเช่นแม่ฮ่องสอนจบการศึกษาในระดับเดียวกัน
 
ประเทศไทยสามารถทำให้เด็กจากครอบครัวยากจนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างไร ?
 
ประการแรกนับเป็นกุญแจสำคัญนั่นคือ การส่งเสริมให้เด็กมีความพร้อมสำหรับการเข้าโรงเรียนเมื่ออายุหกขวบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ต้องมีการขยายบริการศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนที่มีคุณภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท พ่อแม่เด็กไทยมีความห่วงใยลูกเป็นอย่างมากเช่นเดียวกันกับพ่อแม่ทุกคนบนโลก ดังนั้นพวกเขาพร้อมจะทำทุกทางเพื่อผลักดันให้ลูกๆ ได้รับการพัฒนาการเรียนรู้  ภาครัฐสามารถให้การสนับสนุนพ่อแม่ผ่านโครงการและการรณรงค์ด้านต่างๆ อาทิ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โภชนาการ การดูแลสุขภาพ และการพัฒนาและการเรียนรู้ของเด็ก นอกจากนี้ การให้การฝึกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญจะเป็นประโยชน์แก่ศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนหลายแห่งในชนบทเช่นกัน
 
ประการต่อมา ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายเฉพาะตัวเรื่องจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการที่ประเทศไทยมีจำนวนโรงเรียนมากกว่าจำนวนนักเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงจำนวนที่คาดการณ์ไว้ในอนาคต ซึ่งลดลงอย่างมากจากเกือบ 9,500,000 คนเมื่อปี พ.ศ. 2540 ลดเหลือประมาณ 7,400,000 คนในปัจจุบัน และคาดว่าจะคงลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 5,500,000 คนในอีกยี่สิบปีข้างหน้า ในขณะที่จำนวนโรงเรียนยังคงเดิมและไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
 
ที่จริงแล้ว การที่จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นเป็นหัวใจของปัญหาการขาดแคลนครูเลยที่เดี่ยว  ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนครู แต่ปัญหาคือการที่จะนำครูไปสอนในโรงเรียนขนาดเล็ก
 
ทำอย่างไรครูและการศึกษาที่มีคุณภาพจะเข้าถึงเด็กไทยทุกคน? สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทมีทรัพยากรการเรียนการสอนน้อยเข้ากับโรงเรียนขนาดใหญ่กว่าในละแวกใกล้เคียง  ความพยายามในเรื่องนี้นับเป็นเรื่องดีหากชุมชนได้เป็นผู้นำในกระบวนการตัดสินใจ ระบบการควบรวมโรงเรียนนี้จะช่วยลดจำนวนโรงเรียนที่มีกว่า 30,000 แห่งลงเหลือ 15,800 แห่งซึ่งอาจเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้สำหรับเด็กที่ขาดแคลน
 
กระทรวงศึกษาธิการกำลังจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองและชนบทอันจะช่วยให้มาตรฐานการศึกษาของไทยทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เราต่างตระหนักดีว่าไม่มีไม้เท้าวิเศษใดจะแก้ปัญหาระบบการศึกษาที่กำลังคลอนแคลนนี้ได้  แต่กระนั้น หัวใจสำคัญที่ทำให้ผลการเรียนรู้ของเด็กในสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และเวียดนามมีคะแนนในระดับสูงได้เหมือนกันนั่นคือ การมีนโยบายที่ดีและการดำเนินตามนโยบายที่วางไว้อย่างรอบคอบ
 
ถึงเวลาที่เราต้องรีบเร่งปรับปรุงการดูแลเด็กไทยก่อนวัยเรียนและการควบรวมโรงเรียนเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กไทยทุกคนจะได้รับกาลศึกษาในโรงเรียนที่มีอุปกรณ์การเรียนการสอนพร้อมและมีทีมครูที่มีคุณภาพเพื่อให้เรามั่นใจได้ว่าประเทศไทยมีกำลังแรงงานพร้อมก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ได้อย่างแท้จริง
 
บล็อกนี้ได้ตีพิมพ์เป็นบทความลงหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ

Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000