รัฐบาลไทยได้ริเริ่มนโยบายเศรษฐกิจหลายประการซึ่งล้วนมีศักยภาพให้เศรษฐกิจก้าวต่อไปข้างหน้า เพื่อให้บรรลุการปรับเปลี่ยนด้านโครงสร้างเศรษฐกิจให้สำเร็จนั้น การมีกำลังแรงงานที่มีทักษะและการมียุทธศาสตร์การลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) มากขึ้น เป็นสิงจำเป็นอย่างยิ่ง
เป็นเวลากว่าสี่สิบปีที่เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตอย่างน่าประทับใจที่ร้อยละ 7.7 แต่ได้ลดลงเหลือร้อยละ 3.3 ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2558 หากประเทศไทยเติบโตเช่นนี้ ต้องใช้เวลากว่ายี่สิบปีเพื่อบรรลุเป้าหมายการก้าวเป็นประเทศที่มีรายได้สูง
รายงานล่าสุดของธนาคารโลก “กลับสู่เส้นทาง: ฟื้นฟูการเติบโตและประกันความมั่งคั่งสำหรับทุกคน” พบว่าเหตุผลหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงคือการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน
เมื่อสิบปีก่อน สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต่างๆ ของประเทศทั่วโลกพบว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันหลายตัที่นำหน้าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่มีลักษณะใกล้เคียงกันอย่างชัดเจน
แต่ทุกวันนี้ ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางอื่นๆ ไล่ตามประเทศไทยทัน อีกทั้งหลายประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าในภูมิภาคยังได้ก้าวนำประเทศไทยไปแล้วในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านความพร้อมทางเทคโนโลยี การอุดมศึกษาและการฝึกอบรม นวัตกรรม การพัฒนาตลาดการเงิน สถาบัน และความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ
รายงานพบว่า หากต้องการเร่งเศรษฐกิจไทยให้โตเร็วขึ้นนั้น ประเทศไทยต้องใช้โอกาสจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามาในประเทศให้เกิดประโยชน์ในการยกระดับและสร้างนวัตกรรมให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีนที่สามารถคงการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงไว้ได้หลังจากก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงแล้ว
ประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะเริ่งการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อช่วยลดปัญหาจากโครงสร้างพื้นฐานและสามารถทำให้ประทศไทยเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียนได้ สุดท้ายนี้ ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการลงทุนระบบนิเวศนวัตกรรมซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นระดับภูมิภาคและมีคุณภาพการศึกษาทัดเทียมระดับโลก
รัฐบาลไทยได้เปิดตัวโครงการใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง อาทิ การเน้นการพัฒนากลุ่ม 10 อุตสาหกรรมใหม่ซึ่งเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ (หรือ อุตสาหกรรม S-curve) การลงทุนโครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและการเปิดตัวโครงการสำคัญเพื่อให้เกิดระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์
หากประเทศไทยต้องการได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพนั้น ประเทศไทยต้องมีการลงทุนเรื่อง R&D และต้องมีบัณฑิตพร้อมทักษะเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาและการวิเคราะห์เหตุผลเป็นองค์ประกอบสำคัญ
ในขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน+3 ได้ลงทุนในด้าน R&D เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น การลงทุนในเรื่อง R&D ของประเทศไทยยังคงที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 0.5 ของจีดีพี ผลที่เห็นได้ก็คือขีดความสามารถของไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2539 ถึง 2558 ประเทศไทยได้หล่นไปอยู่ลำดับเกือบสุดท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน +3
การลงทุน R&D นั้นให้ผลตอบแทนสูง จากการคาดการณ์ของธนาคารโลกพบว่าผลตอบแทนอาจจะสูงถึง 3 เท่าสำหรับประเทศมีรายได้ปานกลาง ดังนั้น เราจะเห็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทยมีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีถัดไป
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีอีกด้านที่สามารถปรัปบรุงได้นั่นคือ การเพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะ รายงานวิจัยหลายเรื่องชี้ชัดว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศมีความสามารถในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีขึ้นอยู่กับจำนวนแรงงานที่มีฝีมือระดับสูง
ในประเด็นนี้ ผลการทดสอบล่าสุดของโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ทำให้เราต้องตระหนักว่าการสร้างความเข้มแข็งด้านทักษะเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ภายใต้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย 4.0
ผลการทดสอบล่าสุดของโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) พบว่า นักเรียนไทยมากกว่าครึ่งมีผลการเรียนต่ำกว่ามาตรฐานในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แม้ว่าจะใช้เวลาศึกษาในโรงเรียนมาเกือบเก้าปีแล้วก็ตาม แต่นักเรียนไทยกว่าครึ่งก็ยังไม่สามารถเข้าใจความหมายของหนังสือที่อ่าน และขาดทักษะการคำนวณ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในโลกการทำงานยุคใหม่
หากเรามองไปประเทศรอบตัวที่นักเรียนมีผลการสอบสูง เราจะเห็นว่านักเรียนจากสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า ใต้หวัน เวียดนาม เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นร้อยละ 30 มีผลสอบระดับ 4 หรือสูงกว่าในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในขณะที่มีนักเรียนไทยเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่อยู่ในระดับเดียวกัน
การช่วยเตรียมความพร้อมให้กำลังแรงงานมีทักษะพร้อมสำหรับงานในโลกปัจจุบันและอนาคตเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทย ในการนี้ เรื่องที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับแรกคือ การลดจำนวนนักเรียนที่อ่านหนังสือออกแต่ไม่เข้าใจความหมายและขาดทักษะการคำนวณ รวมถึงการเพิ่มจำนวนนักเรียนที่มีผลการเรียนสูงให้มากขึ้น
นักเรียนในวันนี้คือกำลังแรงงานสำคัญของประเทศไทยในวันหน้า ดังนั้นนักเรียนเหล่านี้ต้องพร้อมทั้งทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางซึ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทยยุค 4.0 ซึ่งนวัตกรรมจะเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูง
บล็อกนี้ได้ตีพิมพ์เป็นบทความลงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
Join the Conversation