ประเด็นท้าทายเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็ก และทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย

This page in:

Image

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยนับว่าประสบความสำเร็จในการขยายการเข้าถึงการศึกษาในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่าประเทศไทยยังคงมีประเด็นที่ต้องพัฒนาอีกมากเพื่อที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียนได้อย่างเต็มที่ จากการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติในด้านการรู้เรื่องการอ่านเมื่อปีพ.ศ. 2555 (2012 PISA Reading Assessment) พบว่า เกือบ 1 ใน 3 ของนักเรียนไทยอายุ 15 ปี “รู้หนังสือไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้งานได้” (Functionally Illiterate) และยังขาดทักษะการวิเคราะห์ที่จำเป็นต่อการทำงานซึ่งต้องใช้ทักษะการอ่านที่สูงกว่าขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ โรงเรียนยังมีคุณภาพแตกต่างกันสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยพบว่านักเรียนที่ด้อยโอกาสและมีผลการเรียนไม่ดีจะกระจุกตัวอยู่ตามโรงเรียนขนาดเล็กในหมู่บ้านในเขตชนบท

เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลแล้ว โรงเรียนมัธยมของไทยยังมีข้อจำกัดอย่างมากในด้านสื่อการเรียนรู้และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ระบบการศึกษาระดับมัธยมของไทยยังประสบปัญหาในด้านคุณภาพครูอีกด้วย โรงเรียนมัธยมในเขตชนบทนั้นมีจำนวนบุคลากรและทรัพยากรน้อยกว่าโรงเรียนที่อยู่ในเขตเมืองอย่างมาก การจัดสรรทรัพยากรของไทยนั้นมีความไม่เท่าเทียมสูงกว่าประเทศในกลุ่ม OECD มาก
จากการศึกษาของธนาคารโลก พบว่าโรงเรียนระดับประถมของไทยประสบปัญหาขาดแคลนครูอย่างหนัก เนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ธนาคารโลกประเมินว่า ราวร้อยละ 64 ของโรงเรียนประถมของไทยขาดแคลนครูอย่างมาก โดยเฉลี่ยมีครูน้อยกว่า 1 คนต่อห้องเรียน ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้ครูในโรงเรียนเหล่านี้ต้องสอนหลายวิชาและต้องสอนหลายระดับชั้นมากกว่าครูที่สอนในโรงเรียนขนาดใหญ่ นอกจากนี้ โรงเรียนขนาดเล็กในชนบทยังมีปัญหาจากการที่ครูมีคุณวุฒิต่ำและด้อยประสบการณ์อีกด้วย

จากการศึกษา พบว่าการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณจะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างมีนัยสำคัญและจะมีผลลัพธ์ที่ชัดเจนต่อโรงเรียนที่มีมาตรฐานต่ำ ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการแก้ไขปัญหาการศึกษาคุณภาพต่ำและความไม่เท่าเทียมทางด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะต่างกัน การปฏิรูปการศึกษาของไทยนั้นควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพครูและการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู โดยเฉพาะในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กในเขตชนบท

การศึกษาดังกล่าวพบว่าในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมในประเทศไทยมีจำนวนชั้นเรียนที่ขาดแคลนครูอย่างหนักมากถึง 110,725 ชั้นเรียนจากทั้งหมด 353,198 ชั้นเรียน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องอาศัยการเพิ่มงบประมาณอีกมากเพื่อให้มีจำนวนครูที่เพียงพอกับชั้นเรียนทั่วประเทศ  ทั้งนี้ จากจำนวนโรงเรียน 31,000 โรงเรียนทั่วประเทศนั้น ประเทศไทยจะต้องผลิตครูเพิ่มเติมอีก 108,000 คน และต้องจัดสรรให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นจำนวนครูที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีแนวทางการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นซึ่งสามารถนำไปดำเนินการได้จริง โดยการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ รวมทั้งการปรับแนวทางการบริหารจัดการเครือข่ายโรงเรียนซึ่งมีขนาดใหญ่เกินไปและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคตอีกต่อไป จากการจัดทำแผนที่โรงเรียนพบว่าราวร้อยละ 85 ของโรงเรียนขนาดเล็ก (ซึ่งมีนักเรียนเฉลี่ยไม่เกิน 20 คนต่อระดับชั้น) อยู่ในพื้นที่ที่ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ในการเดินทางถึงกันหรือไปยังโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ ประเทศไทยสามารถจัดใช้การบริหารโรงเรียนและการสนับสนุนที่เหมาะสมเพื่อลดจำนวนโรงเรียนให้น้อยลงและเพิ่มขนาดของแต่ละโรงเรียนโดยไม่ทำให้นักเรียนมีโอกาสการเข้าถึงการศึกษาน้อยลงแต่อย่างใด

แนวทางหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้คือ การลงทุนพัฒนา “โรงเรียนศูนย์กลาง” ให้เป็นทางเลือกในการศึกษาที่น่าสนใจสำหรับนักเรียนและผู้ปกครองที่ปัจจุบันอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอ หากภาครัฐสามารถให้การสนับสนุนทางด้านการเดินทางและทรัพยากรครูแก่นักเรียนที่ต้องการเปลี่ยนโรงเรียนได้อย่างเพียงพอ โรงเรียนขนาดเล็กก็จะทยอยปิดตัวไปเอง การศึกษานี้ประเมินว่า หากประเทศไทยดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจะสามารถลดจำนวนโรงเรียนทั่วประเทศให้เหลือ 15,854 โรงเรียน ในจำนวนนี้ยังคงมีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 3,259 โรงเรียน เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้น โรงเรียนเล็กเหล่านี้ควรต้อง “รักษาไว้” เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่ดังกล่าว และควรได้รับการจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมเพื่อให้โรงเรียนสามารถให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่นักเรียนที่ด้อยโอกาสได้ การปฏิรูปนี้จะทำให้ชั้นเรียนในประเทศไทยมีจำนวนครูต่อชั้นเรียนเพียงพอโดยไม่ต้องจัดหาครูเพิ่มเติม

เราไม่สามารถเพิกเฉยต่อปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กนี้ได้อีกต่อไป ปัจจุบันนี้เด็กกว่า 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเหล่านี้ แต่พวกเขาไม่ได้รับโอกาสเช่นเดียวกับเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนที่ใหญ่กว่า นอกจากนี้แนวโน้มทางด้านประชากรศาสตร์ยังชี้ให้เห็นว่าจำนวนของเด็กนักเรียนในกลุ่มนี้จะเพิ่มเป็น 2 ล้านคนภายในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งทำให้ปัญหานี้แย่ลงไปอีก
การรับมือกับปัญหาที่ใหญ่และมีความซับซ้อนเช่นนี้จะต้องอาศัยความเป็นผู้นำ การวางแผนอย่างรัดกุม ทรัพยากรที่เพียงพอ คำมั่นสัญญาในระยะยาว และความร่วมมือเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ปกครอง คณาจารย์ และครูใหญ่ของโรงเรียน
แผนงานการแก้ปัญหาอย่างละเอียดจะต้องสามารถตอบปัญหาและคลายข้อสงสัยทั้งหมดของชุมชนและเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาได้ ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนจะเดินทางไปยังโรงเรียนใหม่ได้อย่างไร? อาคารเรียนของโรงเรียนเก่าจะเป็นอย่างไร? ครูที่ได้รับผลกระทบจากโรงเรียนที่ถูกยุบไปจะทำอย่างไร? โรงเรียนใหม่จะมีการสนับสนุนทางการสอนเพื่อช่วยเด็กให้ตามบทเรียนได้ทันหรือไม่? และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย

เรื่องนี้ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ง่าย แต่หากเราปล่อยปัญหาไว้เช่นนี้ต่อไป ก็เหมือนเป็นการทิ้งนักเรียนที่ยากจนกว่า 1 ล้านคนไว้ข้างหลัง มันไม่ยุติธรรมกับเด็กๆ เหล่านี้ และประเทศไทยก็ไม่สามารถที่จะนิ่งดูดายโดยที่ไม่ทำอะไรเลย


Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000