ประเทศไทยเดินหน้าแผนการพัฒนาจนกลายเป็นประเทศตัวอย่างที่มีเรื่องราวความสำเร็จที่น่าสนใจยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนประชาการยากจนจากเกือบร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดในปี 2529 จนเหลือเพียงร้อยละ 11 ในปี 2556 หรือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่มีอัตราก้าวหน้าเฉลี่ยที่ร้อยละ 7.5 ในช่วงปลายทศวรรษ 80 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 90 (พ.ศ. 2523-2533) ซึ่งได้ช่วยสร้างงานให้ประชากรไทยหลายล้านคนได้หลุดพ้นจากความยากจน
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักยังคงเป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากร้อยละ 17 ของประชากรไทย หรือ ประมาณ 7 ล้านคน ต้องอาศัยอยู่ใต้เส้นความยากจน และอีกประมาณ 7 ล้านกว่าคนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะตกสู่สภาวะความยากจนอีกครั้ง แม้ว่าช่องว่างความไม่เท่าเทียมได้แคบลงเรื่อยๆ ในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา การกระจายความมั่งคั่งให้คนในชาติยังคงไม่ทั่วถึงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ครัวเรือนและการบริโภคก็ยังคงมีอยู่มากทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค โดยความหนาแน่นของประชากรที่ยากจนนั้นอาศัยอยู่ในภาคอีสาน ภาคเหนือ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับลมต้าน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับไม่สูงนัก ขีดความสามารถในการส่งออกลดลงและภัยแล้งอย่างรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปรัง ทั้งนี้อัตราความยากจนยังคงลดลงแต่เป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากครัวเรือนที่มีฐานะยากจนในชนบทได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อหลังจากที่เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อเร็วๆ นี้
‘ประเทศไทยที่คุณอยากเห็นในอนาคตเป็นอย่างไร?’ คือคำถามที่เราได้ถามเยาวชนไทยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาในระหว่างงานการประชุมหารือเพื่อวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาอย่างเป็นระบบ (Systematic Country Diagnostics) ซึ่งเป็นรายงานที่ช่วยกำหนดลำดับความสำคัญของการพัฒนาเพื่อลดความยากจนและแบ่งปันความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง
นอกจากการประชุมที่ได้จัดขึ้นโดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น หน่วยงานภาคประชาสังคม องค์กรไม่แสวงผลกำไร นักวิชาการ และหน่วยงานเอกชน เรายังได้ริเริ่มกิจกรรมพิเศษเพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งผ่านการแชร์มุมมองความคิดเห็นอย่างกว้างขวางต่อการพัฒนาของประเทศ
เราได้สร้าง ‘กำแพงแห่งความหวัง’ และนำไปจัดแสดงในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ปัตตานี และเชียงใหม่ และในพื้นที่ศาลากลางของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมมุมมองความเห็นของเยาวชนไทยในแต่ละภาค โดยมีเยาวชนมากกว่า 500 คนร่วมเขียนแสดงความเห็นลงบนโปสการ์ดเกี่ยวกับความหวังของพวกเขาต่อการพัฒนาของประเทศ
คำตอบบนโปสการ์ดของเยาวชนแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในหัวข้อการพัฒนาที่หลากหลาย ซึ่งประเทศไทยกำลังเดินหน้าแก้ปัญหาอยู่ ความเห็นเหล่านี้ได้เปิดมุมมองใหม่พร้อมเน้นให้เห็นถึงความท้าทายในหลายประเด็นที่หลายๆ คนตระหนักและหวังว่าจะได้รับการแก้ไข อาทิ การศึกษาที่มีคุณภาพ ความปรองดองทางสังคมและการเมือง และกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ความยุติธรรม ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกัน
ความแตกต่างทางความคิดระหว่างเยาวขนในเมืองและชนบท
ในกรุงเทพฯ: สิ่งแรกที่เยาวชนไทยส่วนมากหวังว่าพวกเขาจะได้เห็นคือความปรองดองกันทั้งบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งการที่ได้เห็นความมุ่งมั่นของเยาวชนไทยที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยที่ประเทศไทยและประชาชนพร้อมเดินหน้าไปด้วยกันนั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้เราอย่างเหลือล้น
“ฉันหวังว่าคนไทยจะคิดอย่างมีเหตุผลและฟังความคิดเห็นของกันและกัน เพื่อสร้างประเทศที่มีแต่ความสามัคคีและสันติ”
ในปัตตานีและอุดรธานี: สิ่งที่เหมือนกันระหว่างเยาวชนจากทั้งสองพื้นที่นี้คือ ความหวังสำหรับการศึกษาที่มีคุณภาพ ประเด็นนี้ถูกยกขึ้นมาเป็นลำดับแรกเนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยปูทางให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอื่นๆ ได้สำเร็จ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือการเพิ่มผลผลิตและสินค้าเกษตรยังคงเป็นอีกประเด็นการพัฒนาหลักที่สำคัญในสายตาของเยาวชน
“ฉันหวังว่าเราจะเห็นการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมระหว่างพื้นที่เมืองและชนบท”
“ฉันหวังว่าชาวนาจะมีรายได้เพิ่มขึ้นและมั่นคง”
ในเชียงใหม่: สำหรับเยาวชนในภาคเหนือ พวกเขามองว่ากฎหมายที่เข้มแข็งและระบบยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พวกเขาหวังว่าประชาชนทุกคนต้องได้รับการตัดสินอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีฐานะดีหรือยากจน นอกจากนี้การพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจยังเป็นประเด็นการพัฒนาที่เยาวชนในภาคนี้ให้ความสำคัญอีกด้วย
“ฉันอยากเห็นความยุติธรรมที่แท้จริงในสังคมไทย ที่ๆ ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมไม่ว่าพวกเขาจะจนหรือรวย”
“ฉันหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะมั่งคงและยั่งยืนกว่านี้”
โดยสรุปแล้ว เยาวชนไทยทุกคนอยากจะเห็นโลกนี้ปราศจากความยากจน และเป็นที่ๆ ทุกคนมีความเท่าเทียม มีการศึกษา และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต หากมองข้ามผ่าน ‘กำแพงแห่งความหวัง’ ที่เยาวชนไทยได้ร่วมกันแบ่งปันไอเดียสำหรับการพัฒนาแล้ว แม้ว่าประเทศไทยยังคงต้องเดินหน้าต่อไปบนหนทางอันยาวไกล หากเยาวชนของเรามุ่งมั่นต่อตนเอง ร่วมมือกันในชุมชน และรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวในชาติแล้ว เราเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถยุติความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำให้เกิดความเท่าเทียมกันทั่วทั้งประเทศได้อย่างแน่นอน
หากคุณเป็นหนึ่งในเยาวชนไทย เสียงของคุณนั้นมีความหมาย มาร่วมแบ่งปันความหวังของคุณกับเราได้ที่กล่องคอมเม้นท์ด้านล่าง
Join the Conversation