นวัตกรรมเครื่องปรับอากาศในประเทศไทย: ดีต่อทั้งธุรกิจและต่อสภาพภูมิอากาศ

This page in:
Image


หลังจากมีข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงปารีส ประเทศต่างๆ ได้เริ่มพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้พลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas: GHG) ตามข้อตกลงฯ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการควบคุมการอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส
 
นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีการทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศของไทย ภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะสามารถช่วยผู้บริโภคและประเทศไทยประหยัดพลังงาน และจะช่วยลดการปล่อยสารทำความเย็นที่เป็นอันตรายต่อชั้นโอโซนและทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้ ทั้งนี้ หากมีการใช้อย่างแพร่หลาย เทคโนโลยีใหม่นี้จะสามารถมีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้


เครื่องปรับกาศที่ใช้กันตามบ้านเรือนทั่วโลกนั้นใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrochlorofluorocarbons: HCFCs) เป็นสารทำความเย็นในช่วงกว่า 50 ปี ที่ผ่านมา โดยสาร HCFCs นั้นเป็นอันตรายต่อชั้นโอโซนและทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ดี ประเทศพัฒนาแล้วได้เลิกใช้สาร HCFCs แล้วเกือบทั้งหมดเพื่อปฏิบัติตามพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน อย่างไรก็ดี ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา เครื่องปรับอากาศส่วนมากหันมาใช้สาร HFCs ซึ่งเป็นสารที่ไม่ทำลายชั้นโอโซน แต่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2,100 เท่า  ดังนั้น การเลิกใช้สาร HCFCs ที่ได้ดำเนินการไปแล้วคงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด หากเครื่องปรับอากาศทั่วโลกยังหันมาใช้สาร HFCs ทดแทน และอาจจะทำให้สภาพภูมิอากาศแย่ลงกว่าเดิม
 
ขณะนี้ ประเทศกำลังพัฒนาอยู่ระหว่างการยกเลิกการใช้สาร HCFCs เพื่อปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศโดยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการปรับนโยบายเพื่อยกระดับมาตรฐานทางด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อจัดการกับปัญหาทางด้านความปลอดภัยและการใช้สารที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนน้อยลง บริษัท ซัยโจ เดนกิ อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด  เป็นบริษัทของประเทศกำลังพัฒนาบริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-32 ซึ่งเป็นสาร HFC ที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนน้อย หลังจากที่บริษัทในประเทศพัฒนาแล้วเริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ 3 ปี ที่แล้ว โดยเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร R-32 นั้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงร้อยละ 70 และยังประหยัดพลังงานได้ร้อยละ 5-10  มากกว่าเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HCFC และยังมีศักยภาพในการทำความเย็นสูงกว่าถึงร้อยละ 10 ด้วย
 
ทั้งนี้ ยังมีบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศอีก 11 แห่ง ในประเทศไทยที่จะดำเนินการแบบเดียวกันกับบริษัท ซัยโจเด็นกิ และจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิค จากโครงการลดการใช้สาร HCFC ของกองทุนพหุภาคีสำหรับการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้พิธีสารมอนทรีออลภายใต้การบริหารจัดการโดยธนาคารโลก  ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากเครื่องปรับอากาศที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ นอกจากนี้บริษัทเครื่องปรับอากาศต่างชาติขนาดใหญ่อื่นๆ ได้หันมาใช้เทคโนโลยีที่ใช้สาร R-32 ด้วย ดังนั้น การแข่งขันด้านราคาจะช่วยให้บริษัทขนาดเล็กสามารถแข่งขันได้แม้ว่าจะคำนึงถึงการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วยในการประกอบธุรกิจก็ตาม
 
นอกจากนี้ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม เนื่องจากประเทศทั่วโลกกำลังเร่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้มีความต้องการเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศสูงขึ้นมาก ทั้งนี้ ประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ได้เริ่มมีนโยบายและกฎระเบียบเพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศแล้ว ดังนั้น การเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี R-32 นั้นจะช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไทยซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐมีความได้เปรียบและมีโอกาสที่จะขยายตลาดส่งออก นอกจากนี้ ประสิทธิภาพการทำความเย็นที่ดีกว่าจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาเครื่องปรับอากาศที่สามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าและมีต้นทุนต่ำในอนาคตอีกด้วย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญเนื่องจากประเทศทั่วโลกมีการปรับมาตรฐานการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง
 
จากการที่เราได้ติดตามความก้าวหน้าในแต่ละขั้นในการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศในประเทศไทย เรารู้สึกประทับใจต่อผลลัพธ์ที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงและความมุ่งมั่นนี้  ซึ่งสามารถใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในปรับปรุงเรื่องพลังงานและการทำความเย็นโดยไม่ก่อให้เกิดต้นทุนเพิ่ม
 
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนการปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลกให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจนั้นจำเป็นต้องอาศัยมากกว่าบริษัทที่มีนวัตกรรมและกล้าที่จะเสี่ยง หากต้องอาศัยความพยายามในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม    อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการปรับกระบวนการผลิต การจัดการอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ  และการให้บริการหลังการขายในระยะยยาว  โครงการลดละเลิกการใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFC) ระยะที่ 1 นี้ เป็นการรวมการให้การสนับสนุนทางการเงินและความช่วยเหลือทางเทคนิค ในการที่ถ่ายโอนเทคโนโลยี และความร่วมมือกับบริษัทเครื่องปรับอากาศชั้นนำของญี่ปุ่น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศไทยยังเป็นผู้นำให้เกิดการนำเทคโนโลยีใหม่นี้ไปใช้ในภาคส่วนต่างๆ  รวมทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ช่วยให้ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ สามารถประสบความสำเร็จได้อีกด้วย
 
ความสำเร็จนี้ถือว่ามีนัยสำคัญกับประเทศทั่วโลก เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากยังผลิตและใช้เครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HCFC แต่จำเป็นที่จะต้องหยุดใช้ในเร็ววันนี้  ทั้งนี้ ประสบการณ์ของประเทศไทยนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีทั้งในด้านการการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยการก้าวผ่านอุปสรรคด้วยการวมความมุ่งมั่นทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจเข้าด้วยกันในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา

 


Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000