Also available in English
หน้าฝนมาเยือนเมืองไทยอีกแล้ว มาพร้อมกับความทรงจำถึงน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 13 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 680 ราย และสร้างความเสียหาย 46.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลกระทบของน้ำท่วมที่มีต่อธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานของโลกที่มีการบันทึกไว้เป็นอย่างละเอียด และเป็นข่าวพาดหัวตลอดทั้งปี 2555 แต่ว่าคนยากคนจนล่ะเป็นอย่างไรบ้าง?
น้ำท่วมคราวนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตชายและหญิงหลายแสนคน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสภาพง่อนแง่นไม่มั่นคงอยู่แล้ว สองปีผ่านไปเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง?
จากการที่ได้ไปเยือนโครงการพัฒนายกระดับชุมชนแออัดสองแห่งในกรุงเทพฯ ตอนเหนือเมื่อเดือนก่อน ก็ได้พบเห็นเรื่องราวที่เป็นประเด็นสำหรับเมืองอื่นๆ ในเอเชียที่กำลังเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว พลังอำนาจของภัยธรรมชาติ และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
ไม่ต่างจากเมืองใหญ่ๆ อย่างจาการ์ตาหรือมะนิลา กรุงเทพฯ ก็มีประชากรในชุมชนแออัดอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมักอาศัยอยู่บนที่ดินที่เป็นของหน่วยงานรัฐและเอกชนต่างๆ ไม่มีทั้งบ้านเลขที่และบัตรประจำตัวประชาชน พวกเขาแทบไม่มีช่องทางที่จะเข้าถึงหน่วยงานหรือสถาบันต่างๆ ได้ตามปกติ เว้นเสียแต่จะต้องพึ่งพาอาศัยเส้นสายต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงน้ำท่วม คนจนไม่มีรายได้ จึงไม่สามารถที่จะชำระหนี้สินที่ตนมีอยู่ได้และก็ต้องมองดอกเบี้ยทบทวีขี้นไปเรื่อยๆ (ซึ่งมักจะเป็นการกู้เงินนอกระบบ)
ข้อเสนอแนะประการหนึ่งจากการประเมินผลกระทบหลังภัยพิบัติของรัฐบาลไทยหลังเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกและ Global Facility for Disaster Reduction and Recovery (GFDRR) คือ การตอบสนองความจำเป็นต้องการของชุมชนให้ดีขึ้นและเสริมสร้างธรรมาภิบาลระดับท้องถิ่นตลอดจนการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยรวม
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือชุมชนที่มีรายได้น้อยในการสร้างที่พักอาศัยและชีวิตของตนขึ้นมาใหม่ ในระหว่างปี 2546 และ 2552 โครงการบ้านมั่นคงช่วยยกระดับชีวิตผู้คนราว 13,300 ครอบครัวต่อปี ลักษณะเด่นบางประการของโครงการนี้มีอย่างเช่น
- อาศัยหน่วยงานและเครือข่ายต่างๆ บทบาทของ พอช. มีความสำคัญ คือ ช่วยให้ชุมชนรวมตัวจัดตั้ง บริหารจัดการที่ดิน ที่พักอาศัยและการเงิน วางแผนการลงทุน ตลอดจนการเข้าถึงงบประมาณจากรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ผ่านเครือข่ายที่สร้างขึ้นเองและสายสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ความสามารถในการปรับตัวรับมือกับปัญหาของโครงการเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกับสหกรณ์และเครือข่ายต่างๆ ที่ช่วยสร้างความเป็นผู้นำและทักษะต่างๆ ให้กับชุมชน
- ใช้การพัฒนายกระดับตลอดทั่วทั้งเมือง (city-wide upgrading) เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการจัดการปัญหาความยากจนในเมืองและความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าการพัฒนายกระดับเชิงยุทธศาสตร์นั้นช่วยให้เมืองต่างๆ สามารถกำกับการพัฒนาชุมชนแออัดในพื้นที่เสี่ยง ลดความสูญเสียด้วยการวางแผนสร้างการเตรียมพร้อมและการรับมือภาวะฉุกเฉินที่ดีขึ้น และส่งเสริมการสร้างย่านชุมชนที่ปลอดภัยและยั่งยืนอยู่รอดได้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ดังที่ระบุในรายงาน Building Urban Resilience (เสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของตัวเมือง) ของธนาคารโลกเมื่อเร็วๆ นี้
- ผลบวกต่อชุมชนและสมาชิกในชุมชนมีมากกว่าแค่การฟื้นฟู หรือบูรณะสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาใหม่ ในการเยี่ยมชุมชนต่างๆ ดังกล่าว ตัวแทนชุมชนพูดถึงความสำคัญของการทำงานเพื่อจุดหมายร่วมกันที่มากไปกว่าเป้าหมายเฉพาะบุคคล และถึงผลตอบแทนที่ได้รับเมื่อเห็นสมาชิกในชุมชนมีรายได้และชีวิตที่ดีขึ้นมาก พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจในการพัฒนาฟื้นฟูชุมชนของตน เด็กๆ สามารถเชิญครูที่โรงเรียนมาเยี่ยมบ้าน ญาติพี่น้องได้รับการเชื้อเชิญให้มาเยี่ยมครอบครัวในบ้านที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่
- สร้างความสามารถในการฟื้นตัวของชุมชนในการรับมือภัยพิบัติ การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวทางสังคม การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ การสร้างความร่วมมือในระดับท้องถิ่นและความเชื่อมั่นระหว่างชุมชนและหน่วยงานรัฐนั้นเป็นหัวใจสำคัญของความพยายามในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ในการนำเสนอเกี่ยวกับโครงการหนึ่ง ผู้นำชุมชนรายหนึ่งอธิบายว่าโครงการพัฒนาฟื้นฟูนี้ได้ช่วยพวกเขาเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ เธอไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การพัฒนาปรับปรุงทางกายภาพ อย่างเช่น ทางเดินใหม่ที่อยู่ห่างจากคลองมากขึ้นและการขุดลอกคลอง แต่ยังหมายถึงความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ นั่นคือ ความร่วมมือที่มีเพิ่มมากขึ้นในชุมชนที่ทำให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือคนป่วยและคนแก่ได้อย่างรวดเร็ว แจกจ่ายสิ่งของต่างๆ และสร้างวิธีการคมนาคมขนส่งแบบทางเลือกต่างๆ ในยามฉุกเฉินได้ เป็นต้น เธอยังกล่าวด้วยว่าผู้หญิงได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วม และมีบทบาทเป็นผู้นำเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและความสอดคล้องกับความจำเป็นต้องการในระดับครัวเรือน
ยังมีอีกหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการพัฒนาฟื้นฟู (และการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ดีขึ้น) และความพยายามของ พอช. ก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล สิ่งที่โครงการบ้านมั่นคงได้สร้างขึ้นคือ วิสัยทัศน์ที่แสดงให้เห็นว่าชีวิตของกลุ่มประชากรที่อยู่ในภาวะเสี่ยงที่สุดนั้นสามารถได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร และชุมชนที่ได้รับประโยชน์ต่างๆ นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า “ความเปลี่ยนแปลง” มีความหมายอย่างไรในสภาพความเป็นจริง
ทั้งการพัฒนาที่มีชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อน หรือการก่อสร้างฟื้นฟูหลังภัยพิบัติที่มีฐานจากชุมชน (ดังเช่นในอินโดนีเซีย เป็นต้น) ต่างไม่ใช่แนวคิดใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญสำหรับสถาบันหรือองค์กรต่างๆ อย่างเช่น ธนาคารโลกและองค์กรพันธมิตรต่างๆ คือการสามารถเชื่อมโยงการลดความยากจนเข้ากับการสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อประโยชน์ของชุมชนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงเองทั้งหมด นี่คือสิ่งที่สะท้อนใจความสำคัญของแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับภูมิภาคที่นำเสนอให้ผู้กำหนดนโยบายได้เห็นวิสัยทัศน์ และตัวอย่างว่า จะสร้างภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกให้เกิดความเข้มแข็ง ความปลอดภัย และความสามารถในการฟื้นตัวได้อย่างไร
ภาพถ่ายโดย ซูซานา สแตนตัน-เก็ดเดส
Join the Conversation