ในที่สุดก็ได้มาถึงประเทศไทยเพื่อฉลอง รางวัลความคิดสร้างสรรค์ด้านการพัฒนา (Development Marketplace for Innovation) ด้านการป้องกันการใช้ความรุนแรงทางเพศที่เราได้รับจากกลุ่มธนาคารโลกและ ศูนย์วิจัยด้านความรุนแรงทางเพศ (Sexual Violence Research Initiative: SVRI) เมื่อเดือนก่อน ทีมวิจัยของเราประกอบด้วย คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม คุณจำรอง แพงหนองยาง ผู้บริหาร มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Sex Workers IN Group’s - SWING) และ ดร. ดุสิตา พึ่งสำราญ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งได้ไปร่วมพิธีรับรางวัล ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี โดยมี ดร. จิม ยอง คิม ประธานกลุ่มธนาคารโลกกล่าวและให้กำลังใจในการทำงานผู้ได้รับรางวัลทุกคน แม้ว่าวันนี้ที่เราได้มาอยู่ไกลอีกซีกโลก ณ ห้องประชุมของ SWING ที่มีสีสรรสดใสหากแต่ความรู้สึกมุ่งมั่นที่จะทำงานด้านการป้องกันการใช้ความรุนแรงทางเพศที่ได้จากงานรับรางวัลในครั้งนั้นยังคงอยู่กับพวกเรา.
ทำไมการป้องกันการใช้ความรุนแรงทางเพศและการให้ความช่วยเหลือหญิงผู้ให้บริการทางเพศจึงเป็นเรื่องสำคัญ? เมื่อพูดถึงหญิงผู้ให้บริการฯ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงเชื้อเอชไอวีเป็นอันดับแรก แต่ไม่มีใครคิดถึงความเสี่ยงและอันตรายที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญทั้งความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศ อัตราการเสียชีวิตจากการฆาตกรรมของผู้หญิงกลุ่มนี้สูงกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 17 เท่า งานวิจัยที่ผ่านมาของเราพบว่าร้อยละ 15 ของหญิงผู้ให้บริการฯ ในประเทศไทยระบุว่าเคยถูกทำร้ายทางร่างกายหรือทางเพศ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าสถิติดังกล่าวในกลุ่มหญิงผู้ให้บริการฯ ในเขตกรุงเทพมหานครและกลุ่มที่ให้บริการในสถานบริการทางเพศนั้นสูงถึงร้อยละ 20 และร้อยละ 29 ตามลำดับ ผู้ที่ใช้ความรุนแรงต่อหญิงผู้ให้บริการฯ ได้แก่ คู่รัก ตำรวจ แมงดา และผู้ใช้บริการทางเพศ
การใช้ความรุนแรงต่อหญิงผู้ให้บริการฯ ยังส่งผลต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง อาทิ เพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ที่แย่ลง หรือแม้กระทั่งเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อเอชไอวี เป็นต้น แต่กระนั้น กลุ่มหญิงผู้ให้บริการฯ กลับเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการป้องกันการใช้ความรุนแรงและโครงการสนับสนุนอื่นๆ เท่าที่ควร อีกทั้งยังไม่สามารถพึ่งกฎหมายได้มากนัก เนื่องจากการให้บริการทางเพศนั้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายและผู้ให้บริการฯ ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ดังนั้น การช่วยเหลือผู้ได้รับความรุนแรงด้วยการให้ข้อมูล จะช่วยเตรียมความพร้อมและช่วยรับมือกับความรุนแรงและความบอบช้ำทางจิตใจในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งถือว่าเป็นกุญแจสำคัญสำหรับหญิงผู้ให้บริการฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากหญิงกลุ่มนี้ซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดของสังคมและไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารโลกให้การสนับสนุนการรับมือกับความท้าทายในการป้องกันการใช้ความรุนแรงทางเพศ
พวกเรารู้สึกได้ถึงพลังที่ถ่ายเทอยู่ในห้องขณะที่เรากำลังสรุปแผนการนำโครงการนี้ไปดำเนินการและประเมินผลการวิจัย ประเด็นท้าทายสำหรับพวกเราคือ ดำเนินโครงการอย่างรวดเร็วและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเชิงลึกอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมถึงระดับของการสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับการเยียวยา การรณรงค์เรื่องความปลอดภัย รวมถึงการรับมือกับการใช้ความรุนแรงที่ไม่ทำให้ทีมที่ออกไปให้ความช่วยเหลือของเรานั้นต้องรับภาระหนักเกินกำลัง เป้าหมายหลักของเราคือ สร้างเสริมพลังให้หญิงผู้ให้บริการฯ เพื่อลดการโดนทำร้าย ส่งเสริมความปลอดภัย และสามารถหาที่พึ่งทางกฎหมายได้เมื่อต้องการ
ผู้หญิงทุกคนต้องเชื่อมั่นว่าความปลอดภัยและสิทธิของพวกเธอแต่ละคนนั้นสมควรที่จะได้รับการคุ้มครอง แม้ว่าคุณจะรู้สึกว่าถูกสังคมละเลยเนื่องจากทำงานเกี่ยวข้องกับการให้บริการทางเพศก็ตาม ผู้ใช้บริการทางเพศและตำรวจเองก็ต้องตระหนักถึงประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน เราต้องสร้างปัจจัยแวดล้อมที่ย้ำเตือนหญิงผู้ให้บริการฯ ว่าพวกเธอไม่ควรต้องถูกทำร้าย และยังมีคนที่ใส่ใจความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของพวกเธออยู่
ทีมงานของเราทุกคนต่างมีความมุ่งมั่น มีแรงบันดาลใจ และรู้สึกท้าทายที่จะช่วยกันเปลี่ยนแปลงโลกที่ยังคงมีการใช้ความรุนแรงและโทษเหยื่อว่าเป็นต้นเหตุดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ให้กลายเป็นสังคมที่ทุกคนมีอิสรภาพ มีความปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี และมีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน
ช่วยแบ่งปันความคิดของคุณโดยการแสดงความคิดเห็นในช่องด้านล่างนี้ เราอยากทราบเกี่ยวกับประสบการณ์เกี่ยวกับการป้องกันการใช้ความรุนแรงในกลุ่มหญิงผู้ให้บริการทางเพศ ท่านสามารถติดตามพวกเราได้ทาง Twitter (@michelerdecker และ @dphuengsamran) เพื่อติดตามความก้าวหน้าและการประเมินโครงการของพวกเราซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีนี้
Join the Conversation