แม้ว่าระบบรางของไทยจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่นๆ แต่ก็มีคนกว่า 40 ล้านคนต่อปีเดินทางระหว่างเมืองด้วยระบบราง โดยที่ในกรุงเทพฯนั้นรถไฟฟ้าให้บริการผู้โดยสารกว่า 200 ล้านเที่ยวต่อปี
ระบบรถไฟของประเทศไทยเป็นอย่างไร? รายงานล่าสุดของธนาคารโลกชื่อ รายงานการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ ได้ระบุช่องว่างด้านโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงระบบรางซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เป็นหัวใจของการผลิตและการส่งออกของไทย ระบบรางของไทยยังเป็นรางเดี่ยวที่ใช้มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1960 และมีบางส่วนที่ได้ปรับปรุงในช่วงปี ค.ศ. 1990 ซึ่งได้ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนานและอาจมีผลต่อความปลอดภัย ในแต่ละปีมีรถไฟตกรางหรือต้องหยุดให้บริการกว่า 100 ครั้งและมีอุบัติเหตุรถไฟกับรถยนต์กว่า 150 ครั้ง
ประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจ และการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเป็นจุดเริ่มที่จะช่วยปรับปรุงระบบโลจิสติกส์สำหรับธุรกิจ การปฏิรูปที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการปรับปรุงและทำให้ระบบรางมีความทันสมัยซึ่งจะช่วยให้ราคาค่าส่งสินค้าลดลง ระดับการให้บริการดีขึ้น และค่าใช้จ่ายในการขนส่งโดยรวมลดลง การลงทุนในการพัฒนาระบบรางนี้มีศักยภาพที่จะแก้ไขข้อติดขัดด้านการขนส่งซึ่งจะเพิ่มการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ พบว่าไม่มีสูตรสำเร็จสูตรเดียวที่จะช่วยปฏิรูประบบรางในทุกประเทศได้ ประสบการณ์จากประเทศอินเดียและโปแลนด์ได้แนะนำกรอบการทำงานที่จะระบุแนวทางการแก้ปัญหาในแต่ละประเทศด้วยการถามคำถามห้าข้อ ดังนี้
เริ่มจากคำถามแรกที่ว่า ลูกค้าของระบบรางคือใคร ขนส่งอะไร และจะช่วยเพิ่มบริการให้กับประชาชนและเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจได้อย่างไร ? รถไฟสามารถขนส่งผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว แร่ธาตุ ผลิตผลทางการเกษตร หรือ อื่นๆ ระหว่างเมือง เนื่องจากรถไฟมีต้นทุนการลงทุนสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนของการเดินรถ รถไฟจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจำนวนมากได้อย่างต่อเนื่องและตรงเวลา การศึกษาของธนาคารโลกเมื่อปีพ.ศ. 2557 พบว่าค่าเสียโอกาสของการจราจรที่ติดขัดในกรุงกัวลาลัมเปอร์มีมูลค่าสูงประมาณร้อยละ 1.1-2.2 ของจีดีพี สำหรับประเทศไทยนั้น การปรับปรุงการขนส่งระบบรางในเมืองให้มีประสิทธิภาพสามารถช่วยประหยัดเงินและเวลาอันมีค่าเพื่อกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลผลิตที่ดีมากกว่า
คำถามที่สอง เราต้องเปลี่ยนอะไรบ้างเพื่อทำให้ระบบรางสามารถแข่งขันได้ ? การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้อาจหมายถึงการปรับปรุงบริการให้เร็วขึ้น เชื่อถือได้มากขึ้น สะอาด และสะดวกสบายมากขึ้น ราคาอาจจะต้องลดลงเพื่อดึงดูดลูกค้า นั่นก็หมายความว่าโครงสร้างต้นทุนของระบบรางก็ต้องลดลงไปด้วย คนไทยที่ยากจนและคนชราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทห่างไกลยังต้องเดินทางด้วยรถตู้และรถโดยสารเนื่องจากมีเส้นทางให้บริการคลอบคลุมและเชื่อถือได้มากกว่ารถไฟ ซึ่งมักจะมาไม่ตรงเวลาและมักจะช้ากว่ากำหนด การพัฒนาบริการรถไฟและความเร็วจะช่วยให้การเดินทางท่องเที่ยวด้วยระบบรางเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของไทย
คำถามที่สาม ปัจจัยทางเทคนิคที่จะทำให้ระบบรางแข่งขันได้และมีผลตอบแทนที่คุ้มทุนคืออะไร ? ปัจจัยหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนตารางการเดินรถไฟเพื่อให้มีประสิทธิภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน การมุ่งเน้นการให้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้ระบบรางมากที่สุดและลดการให้บริการในพื้นที่ที่ไม่มีความต้องการ หรือให้นักลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมลงทุน ตัวอย่างเช่น ในประเทศออสเตรเลียได้มีการปรับปรุงบริการรถไฟเหมือนกับได้พักอยู่ในโรงแรมเพื่อจับตลาดนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกันกับการรถไฟแห่งประเทศไทยที่อาจจะเพิ่มเส้นทางและเที่ยวการเดินทางระหว่างเมืองเพื่อบริการประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ดีขึ้น
เมื่อเริ่มเห็นเค้าโครงการปฏิรูปแล้ว คำถามต่อมาคือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้การบริหารด้านการเงินมีความยั่งยืน ? ต้องทำอย่างไรเพื่อให้โครงการมีผลตอบแทนทางการเงินที่เพียงพอ ในขณะที่เส้นทางเดินรถไฟระหว่างเมืองหลายสายมีกำไร แต่เส้นทางการเดินรถอีกหลายสายยังประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากความตั้งใจของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถใช้บริการขนส่งได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่ายกย่อง แต่อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้จะสามารถมีความยั่งยืนในระยะยาวได้นั้นต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจนในเรื่องเส้นทางการเดินรถ กำหนดการเดินรถ ราคา และระดับการได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ในประเทศโปแลนด์ แม้ว่าภาครถไฟบางส่วนได้ถูกเปลี่ยนเป็นของเอกชน แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลได้ทำข้อตกลงที่ชัดเจนว่าจะให้การสนับสนุนรถไฟเท่าไหร่เพื่อให้ค่าโดยสารอยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถที่จะจ่ายได้
คำถามสุดท้าย และอาจเป็นคำถามที่สำคัญที่สุด คือ จะดำเนินการปฏิรูปรถไฟอย่างไร ? หรืออาจจะถามอีกแบบว่า อะไรเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปในปัจจุบันและจะก้าวข้ามอุปสรรคนั้นได้อย่างไร? สำหรับประเทศไทย แนวทางหนึ่งที่อาจจะทำได้คือ เพิ่มความชัดเจนของความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและการรถไฟในการบริหารจัดการและการให้บริการ การสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐวิสาหกิจสามารถมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากการลงทุนของภาครัฐในรัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนถึงร้อยละ 30-40 ของการลงทุนภาครัฐทั้งหมด การทำให้เกิดการแข่งขันและการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้ในระยะยาวอีกด้วย
ประเทศไทยได้ก้าวสู่การปฏิรูปรถไฟและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐแล้ว โดยเริ่มจากโครงการรถไฟรางคู่ซึ่งจะปรับปรุงระบบรางที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น และปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณให้ทันสมัย การลงทุนภาครัฐเหล่านี้สามารถช่วยให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนและเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงระบบรางให้มีความทันสมัยเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตประชาชนและการเชื่อมต่อภูมิภาคที่ยังล้าหลังให้มีโอกาสในการเติบโตมากยิ่งขึ้น
บล็อกนี้ได้ตีพิมพ์เป็นบทความลงหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์
Join the Conversation