ภาพภ่ายโดย iamyles ผ่านการใช้ลิขสิทธิ์จากครีเอทีฟคอมมอนส์ |
ยังมีอีกที่: English
เช่นเดียวกับแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่ญี่ปุ่นเมื่อต้นปี ภาวะน้ำท่วมในประเทศไทยได้ตอกย้ำให้เห็นอีกครั้งถึงความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานสินค้าของโลกที่แบ่งกระจัดกระจายอยู่ตามประเทศหรือภูมิภาคต่างๆ
เมื่อเดือนที่แล้ว ทีมนักเศรษฐศาสตร์จากแผนกการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Department) ของธนาคารโลกได้พบเห็นปัญหาบางประการอันเป็นผลข้างเคียงจากภาวะน้ำท่วมดังกล่าวในระหว่างการเยือนโรงงานผลิตรองเท้าที่ประเทศอินโดนีเซียของบริษัทเอ็คโคจากเดนมาร์ก ในการที่จะย้ายการผลิตไปยังโรงงานที่อินโดนีเซียนั้น คนงานจำเป็นต้องใช้แม่พิมพ์รองเท้าแบบเฉพาะที่ใช้ในโรงงานที่ประเทศไทย แต่ปัญหาคือ โรงงานไทยกำลังจมอยู่ใต้น้ำระดับสามเมตร
แม่พิมพ์แบบเฉพาะที่ผลิตในโรงงานไทยนั้นจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์เลยทีเดียวหากจะผลิตขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะทำให้การผลิตรองเท้ายิ่งล่าช้ามากขึ้นไปอีก บริษัทเอ็คโคจึงจ้างนักประดาน้ำดำลงไปเอาแม่พิมพ์ดังกล่าวในโรงงานไทย แล้วก็ขนขึ้นเครื่องบินส่งไปยังโรงงานที่อินโดนีเซีย และที่อื่นๆ ในภูมิภาค
ผู้ผลิตรองเท้าไม่ได้เป็นธุรกิจเดียวที่ประสบปัญหาชิ้นส่วนจมน้ำ ตามรายงานของไฟแนนเชียลไทม์ส ผู้ผลิตรถยนต์ก็ต้องจ้างนักประดาน้ำลงไปงมเก็บกู้แม่พิมพ์ต่างๆ จากโรงงานที่เมืองไทยเช่นเดียวกัน บริษัทฮอนด้าระบุว่าจะต้องลดการผลิตทั่วโลกลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบจำเพาะพิเศษ รอยเตอร์รายงานว่าฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์มีราคาแพงขึ้น 20-50 เปอร์เซ็นต์อันเป็นผลมาจากภาวะน้ำท่วมในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่อันดับสองของโลก
ภาวะสะดุดชะงักงันเช่นนี้ชวนให้นึกถึงเมื่อเดือนมีนาคมที่หายนะจากแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่นทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องเป็นอัมพาตไปชั่วคราวเนื่องจากขาดชิ้นส่วนประกอบพิเศษ ธนาคารโลกรายงานว่าในช่วงหนึ่งเดือนหลังเกิดภัยพิบัติดังกล่าว อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ มีกำลังการผลิตลดลงถึง 12 เปอร์เซ็นต์
ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้ได้เผยให้เห็นถึงความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานที่อาศัยทรัพยากรและความชำนาญทางเทคนิคที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แคบๆ ได้มีการพูดคุยถกเถียงกันอย่างมากว่าบริษัทระดับโลกต่างๆ จะรับมือกับความเสี่ยงที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานที่จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้นได้อย่างไร หนทางการปรับตัวที่เป็นไปได้ก็มีอย่างเช่น การพึ่งพาการผลิตจากหลายแหล่ง (ซึ่งสวนกระแสกับการกระจุกตัวของผู้ผลิตในช่วงปีที่ผ่านๆ มา) การหาผู้ผลิตจากหลายภูมิภาคทั่วโลก และการเพิ่มคงคลังสินค้ามากขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
ทว่าผลกระทบในระยะยาวมากกว่านั้นอาจจะเป็นการขยับถอยห่างออกจากห่วงโซ่การผลิตที่มีการกระจัดกระจายสูง อันเป็นแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังการค้าโลกในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จริงๆ แล้ว ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดการหันไปเน้นห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค แต่จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ภัยพิบัติเหล่านี้ไม่ได้เป็นแรงผลักดันสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แนวโน้มอื่นๆ ดังต่อไปนี้อาจจะส่งผลอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดเปลี่ยนแปลงนี้
- การบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะทวีปเอเชียที่มีการบริโภคสินค้าจากการผลิตของตนในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีห่วงโซ่อุปทานของตนเองที่เชื่อมร้อยกันแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ ในอีกไม่นาน เอเชียอาจสลัดภาพพจน์การเป็นโรงงานผลิตสินค้าส่งออกของโลกและพัฒนาเป็นเครือข่ายการค้าส่วนประกอบและสินค้าสำเร็จรูปภายในภูมิภาคกันเองเหมือนอย่างสหภาพยุโรป
- ช่องว่างทางรายได้ระดับโลกที่แคบลง ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในประเทศที่พัฒนาแล้วหมายถึงว่าช่องว่างทางรายได้อาจลดลง ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่างหวนกลับคืนสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (ดูการวิเคราะห์ของฟอร์บส์เรื่องหลักฐานที่ชี้ถึงแนวโน้มนี้)
- ต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งและคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน ซึ่งจะทำให้การผลิตที่อาศัยเครือข่ายที่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ มีต้นทุนสูงมากขึ้นตามไปด้วย
- นโยบายการค้าแบบภูมิภาคนิยม การเติบโตของข้อตกลงทางการค้าระดับภูมิภาคหมายถึงการค้าขายสินค้าภายในภูมิภาคเดียวกันทำได้ง่ายขึ้น ฌอง ปิแอร์ เชาฟูร์ และฌอง คริสตอฟ เมาร์ จากธนาคารโลกระบุในหนังสือ คู่มือว่าด้วยข้อผูกพันสิทธิพิเศษทางการค้าเพื่อการพัฒนา (Preferential Trade Agreements for Development: A Handbook) ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ข้อตกลงประเภทนี้มีมากขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และคาดว่าคงจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ หากปราศจากข้อตกลงโดฮา
ดังนั้น แม้ว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติจะทำให้ต้องมีการถกเถียงในประเด็นความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานก็ตาม ผลของมันที่จะก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายเครือข่ายการผลิตนั้นอาจเป็นเรื่องที่พูดกันเกินจริง ถึงอย่างไร ภาคเอกชนก็จะต้องทำการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานที่ต้องใช้ต้นทุนสูงโดยอิงจากการคำนวนระยะยาว ไม่ใช่ความเสี่ยงระยะสั้น จริงๆ แล้ว พวกเขาอาจต้องเตรียมการรับมือกับอุปสงค์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ใช้ประโยชน์จากภาวะค่าแรงที่ต่ำลงในประเทศของตน ลดต้นทุนการขนส่ง หรือไม่ก็หาประโยชน์จากข้อตกลงระดับภูมิภาคต่างๆ ที่เพิ่งเกิดไม่นานมานี้ หากแนวทางเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงจากความพิโรธของธรรมชาติและการดำน้ำงมชิ้นส่วนได้ก็จะดียิ่ง
Join the Conversation