ปลาหมึกพอลพยากรณ์เศรษฐกิจไทย: เคลื่อนไหวด้วยหนวดเส้นเดียว

This page in:

 

Image
Image courtesy of Caitfoto through a Creative Commons license
(Originally posted in English ) หลังจากที่คณะผู้จัดทำ รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกได้รับความช่วยเหลือจากทั้งหมอดูลายมือเขมรและ หมอดูกระดองเต่าผู้โด่งดัง ให้สามารถจัดทำตัวเลขประมาณการด้านเศรษฐกิจของไทยในปี 2553 ให้เสร็จสมบูรณ์ไปแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา    ทีมงานของเราก็แอบไปได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับหมอดูแม่น ๆ คนใหม่ที่โลกทั้งใบต้องตื่นตะลึงในความถูกต้องแม่นยำของเขา  ผมจึงต้องตาลีตาเหลือกไปจ้างหมอดูท่านนี้มาเป็นที่ปรึกษาเป็นการด่วน ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเลขประมาณการด้านเศรษฐกิจที่ธนาคารโลกจะนำออกเผยแพร่แก่สาธารณชนในเดือนมิถุนายนนั้นใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด ไม่อย่างนั้นเสียชื่อนักเศรษฐศาสตร์ฟันธงหมด

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเรากำลังพูดถึงศาสตราจารย์นูริเอล รูบินี่ ที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ของอเมริกาขนานนามว่า “ด็อกเตอร์ดูม”   อันนี้ผมต้องขอโทษแทนทีมงานของเราด้วยที่ทำให้ท่านผิดหวัง    เนื่องจากเราสู้ค่าตัวท่านไม่ไหว แต่เราเชื่อว่ากิตติศัพท์ของหมอดูแม่น ๆ คนใหม่ที่เราวิ่งไปปรึกษานั้นคงจะสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ทีมงานของเรามิใช่น้อย   เพราะหมอดูคน (หรือตัว) ดังกล่าวคือ....แถ่น แทน แท้น.....ปลาหมึกพอลผู้ลือเลื่องนั่นเอง        (ซึ่งตอนนี้กลายเป็นปลาหมึกพอลผู้น่าสงสารไปแล้ว เพราะต้องคอยหลบหนีแฟนบอลเยอรมันอย่างหัวซุกหัวซนเพื่อปกป้องตัวเองจากการเป็นปลาหมึกย่างแกล้มเบียร์)    ที่สำคัญ   ค่าตัวหมอดูท่านนี้จัดว่าถูกมากเมื่อเทียบกับความสามารถในการทำนายของท่าน   คุยกันตั้งสองสามชั่วโมงท่านคิดค่าบริการเป็นกุ้งสด ๆ ห้าตัวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนกับผลประโยชน์ที่ได้รับตามหลัก cost-benefit analysis ของเศรษฐศาสตร์แล้วก็นับว่าคุ้มค่าจริง ๆ         

 

หลังจากแหวกว่ายคลื่นลมในมหาสมุทรมาขึ้นฝั่ง ณ สถานที่นัดพบลับของเรา พอลผู้หยั่งรู้ดินฟ้าก็สะบัดหนวดทั้งแปดเส้นของท่านไปมาก่อนจะเปรยว่า ที่ท่านสามารถเคลื่อนไหวในสายน้ำได้อย่างรวดเร็วราบรื่นมาถึงที่นัดหมายได้ตรงเวลานั้นก็เพราะหนวดทั้งแปดของท่านยังใช้งานได้ดีอยู่ ไม่เหมือนเศรษฐกิจไทยที่ดูเหมือนจะกำลังอาศัยหนวด เอ๊ย ปัจจัยเพียงอย่างเดียวเป็นแรงขับเคลื่อน นั่นก็คือการส่งออก   

“ถ้าเปรียบตัวข้าพเจ้าเป็นเศรษฐกิจไทย การส่งออกก็เป็นหนวดเส้นหนึ่งในแปดเส้นที่ข้าฯ ใช้แหวกว่าย ตราบใดที่ชาวต่างชาติยังซื้อสินค้าจากไทยอยู่ หนวดเส้นนี้ก็ยังมีแรงเคลื่อนไหว” พอลอธิบาย   “แต่อย่าลืมว่าหนวดอีกเจ็ดเส้นที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร การก่อสร้าง การค้าปลีก และส่วนต่าง ๆ ของภาคบริการที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศนั้นยังอ่อนแออยู่ แล้วมันก็ไม่ได้เพิ่งจะมาเป็นด้วย   แต่เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 แล้ว”

ผมพยักหน้าเห็นด้วย ภาคการผลิตและบริการโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งเป็นภาคส่วนที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักนั้น เฟื่องฟูมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 อย่างที่พอลผู้หยั่งรู้ฟ้าดินท่านว่าไว้จริง ๆ เสียด้วย   แต่ภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับความต้องการในประเทศนั้นไม่ได้เติบโตงอกงามเท่า ๆ กับสองภาคนี้เลย   สถิติของทางการไทยในปี 2552 ชี้ให้เห็นว่า   สัดส่วนของภาคบริการต่อจีดีพีนั้นหดตัวลงอย่างน่าใจหายเมื่อเทียบกับสิบปีก่อนหน้านี้   ขณะที่เมื่อไปดูในช่วงเวลาเดียวกันในประเทศจีน ซึ่งไม่มีใครเถียงได้เลยว่าไม่ได้เป็นเจ้าแห่งการผลิตเพื่อการส่งออกของแห่งเอเชีย เรากลับพบว่าสัดส่วนของภาคบริการต่อจีดีพีในจีนนั้นก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะไม่ใช่การเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดก็ตาม 

ก่อนที่ผู้น้อยอย่างผมจะพูดอะไรต่อไป   ปลาหมึกพอลผู้หยั่งรู้ก็พรมหนวดเส้นหนึ่งของท่านไปบนแป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วแบบกันน้ำที่ท่านหิ้วติดมาด้วย แล้วเปิดไฟล์ที่ท่านดาวน์โหลดเก็บไว้ให้ผมดู   ไฟล์ที่ว่านั้นประกอบไปด้วยสถิติที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคำอธิบายว่าเพราะอะไรเศรษฐกิจไทยจึงขับเคลื่อนอยู่ได้ด้วยหนวด เอ๊ย ปัจจัยขับเคลื่อนเดียว

แม้ว่าภาคการผลิตของไทยจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ปี 2543 (ที่ค่าเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 6.4)  แต่สัดส่วนของแรงงานในภาคนี้ต่อแรงงานทั้งหมดก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 14 เหมือนเมื่อสิบปีที่แล้ว การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ และความสามารถในการผลิตของแรงงานที่เพิ่มขึ้นนั้นทำให้ผลผลิตที่ได้มากขึ้นก็จริง แต่มันไม่ได้ช่วยหล่อหลอมแรงงานไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่ม   ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับนานาประเทศและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

“ถ้าหากข้าพเจ้าใช้แต่หนวดเส้นเดียวในการว่ายน้ำ   หนวดที่เหลืออีกเจ็ดเส้นก็จะง่อยเปลี้ยได้ในอนาคตเพราะขาดการออกกำลัง” พอลกล่าว และยังบอกอีกว่าหากผมต้องการที่จะหยั่งรู้ให้ได้ว่า หนวดเส้นเดียวที่ประเทศไทยใช้อยู่นั้นจะมีแรงขับเคลื่อนต่อไปในภายภาคหน้าหรือไม่   ผมก็ต้องไปดูว่ามีสถานการณ์ใดบ้างที่จะทำให้ชาวต่างชาติเลิกหรือซื้อสินค้าจากไทยน้อยลง

ก่อนที่ผมจะอ้าปากถามคำถามต่อไป พอลผู้หยั่งรู้ก็ใช้หนวดอีกเส้นหนึ่งดึงเอาสัญญาว่าจ้างระหว่างท่านกับธนาคารโลกออกจากกระเป๋ามาแสดง    น่าเสียดายที่สัญญาฉบับดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะคำทำนายเกี่ยวกับประเทศไทย   พอลจึงไม่สามารถที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับแนวโน้มอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกได้   ผมจึงต้องเก็บความสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของเอเชียตะวันออกที่จะชดเชยความต้องการสินค้าไทยแทนความต้องการจากนอกภูมิภาคที่อาจจะขาดหายไปได้ในอนาคต   รวมทั้งคำถามที่ว่าฤาวิกฤตการเงินในยุโรปจะส่งผลให้โลกต้องเผชิญกับหายนะระลอกสองไว้ในใจ

เมื่อไม่สามารถจะคาดคั้นผู้รู้อย่างพอลให้ตอบคำถามของผมได้   ผมจึงต้องคิดอยู่คนเดียวเงียบ ๆ ในขณะที่เพื่อนร่วมวงสนทนาของผมกำลังเอร็ดอร่อยกับกุ้งสดทั้งห้าตัวที่ธนาคารโลกหามาเป็นค่าจ้าง     ในระหว่างที่เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกค่อย ๆ ฟื้นตัวในปีที่ผ่านมานั้น การส่งออกของภูมิภาคนี้ขยายตัวในอัตราที่สูงมาก   แต่เราก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะประเทศผู้ส่งออกต่าง ๆ ในภูมิภาคกำลังเร่งจัดหาสินค้าคงคลัง (หมายถึงสินค้าหรือวัสดุต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตมีเก็บไว้เพื่อใช้ในการผลิต) มาเพิ่มเติม   ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือไม่   

เมื่อความคิดของผมล่องลอยไปยังยุโรป   ผมก็อดคิดถึงวิกฤตการคลังในประเทศกรีซขึ้นมาไม่ได้ มาถึงตรงนี้ แม้สัญญาของพอลผู้หยั่งรู้จะครอบคลุมแค่ประเทศไทย   แต่ท่านก็กรุณาออกความเห็นเหมือนจะอ่านใจผมได้ว่า ความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะในกรีซนั้นน่าจะสูงเอาการอยู่    เห็นได้จากราคาซื้อขายพันธบัตรของกรีซ ณ ปัจจุบัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่านักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนในสัดส่วนสูงถึง 60-70 เซ็นต์ต่อหนึ่งยูโรทีเดียว มาถึงตรงนี้ พอลผู้หยั่งรู้ก็ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันเล็กน้อยก่อนที่จะเปรยว่า การปรับโครงสร้างหนี้นั้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกินไม่ได้นอนไม่หลับเหมือนกันทั้งสิ้น    (ตรงนี้สายของเราแอบกระซิบว่าอย่าไปสะกิดแผลของท่านทีเดียว   เพราะท่านมีประสบการณ์อันขมขื่นมาแล้วจากการซื้อพันธบัตรของอาร์เจนติน่าเมื่อเกือบสิบปีก่อน   ผมเลยไม่กล้าถามต่อ) 

“แล้วผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองล่ะครับท่าน” ผมเปลี่ยนเรื่อง   ผู้หยั่งรู้ของเราตอบอย่างสุขุมว่า ข้อดีของการพึ่งพาหนวดที่ชื่อว่าการส่งออกเพียงเส้นเดียวในการว่ายน้ำก็คือ   หากใครมาเหยียบหนวดเส้นอื่น ๆ ที่ยังหลับไหลอยู่ ท่านก็ยังสามารถว่ายแหวกมหาสมุทรต่อไปได้โดยไม่ลำบาก   ต่อให้หนวดที่เหลือของท่านจะบาดเจ็บขนาดไหนก็ตาม

“ถ้าโลกไม่ต้องเผชิญหายนะรอบที่สองในปีนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะแล่นได้ฉิวอยู่  อย่ากระนั้นเลย...โอม....มะงุมมะงำส้มตำไก่ย่าง....ด้วยความแม่นยำเทียบเท่ากับที่ข้าพเจ้าสามารถทำได้ในการทำนายผลฟุตบอลโลกเมื่อสองเดือนที่แล้ว    ข้าพเจ้าขอทำนายว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 6.1....โอม....มะโรงมะเส็งมะเมียมะแม.....ขอให้คำทำนายของข้าฯ เป็นจริงด้วยเถิด....”

ก่อนที่ผู้อ่านจะลุกขึ้นมาดีอกดีใจกับตัวเลขคาดการณ์ที่ผู้หยั่งรู้ของเราประกาศ   พี่พอลก็รีบกล่าวเตือนว่า อย่าเพิ่งสรุปเชียวว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีดีพีไทยในปีนี้แปลว่ามรสุมการเมืองที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดใจในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษา-พฤษภาที่ผ่านมานั้นจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ      แม้ภาคการผลิตจะเติบโตเกินความคาดหมายในปีนี้   แต่อย่าลืมว่าแรงงานในภาคผลิตเป็นสัดส่วนแค่ร้อยละ 14  เท่านั้นของแรงงานทั้งหมด   เท่ากับว่าแรงงานที่อยู่ในภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่เหลือ รวมทั้งภาคบริการ   ซึ่งต้องพึ่งพาความต้องการในประเทศและความมั่นใจของนักลงทุนนั้นมีจำนวนมากกว่า    อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเองก็ได้รับผลกระทบเข้าไปเต็ม ๆ จากการประท้วงที่ผ่านมา    แม้สัดส่วนของการท่องเที่ยวต่อจีดีพีซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8 นั้นจะดูเหมือนเป็นสัดส่วนที่ต่ำ    แต่หนวดเส้นที่ชื่อภาคบริการโดยรวมนั้นก็เป็นหนวดเส้นที่ใหญ่และสำคัญต่อการแหวกว่ายคลื่นลม รัฐบาลไทยจึงไม่ควรจะละเลยการดูแลรักษาหนวดเส้นนี้ให้สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเสริมการส่งออก เผื่อว่าสถานการณ์ในมหาสมุทรโลกจะผันผวนอีกในอนาคต

“ข้าฯ ไม่ได้หมายความว่าให้ไทยเลิกพึ่งพาการส่งออก” พอลขยายความ “ถ้าเจ้าตัดหนวดเส้นเดียวที่มีอยู่ออกเสีย เจ้าจะว่ายน้ำกลับสเปนไปฉลองชัยชนะฟุตบอลโลกกับคนอื่น ๆ เขาได้อย่างไรเล่า สิ่งที่เจ้าต้องทำคือพาหนวดอีกเจ็ดเส้นที่เหลือไปทำกายภาพบำบัด   จะได้ฟื้นฟูกำลังวังชาให้กลับมาแหวกว่ายสายน้ำดังเดิมได้”

ผมจึงถึงบางอ้อ พอลกำลังบอกว่า สิ่งที่ไทยต้องทำคือสร้างงานที่มีรายได้สูงกว่างานในภาคการผลิตทั่ว ๆ ไปให้เกิดขึ้น     อันจะช่วยให้เกิดการโยกย้ายแรงงานไทยจำนวนหนึ่งไปยังภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งไปสู่งานในภาคบริการที่ต้องอาศัยทักษะสูง เช่น บริการทางการเงิน การแพทย์ หรือภาคส่วนที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ อาทิ สถาปัตยกรรม การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นต้น   (งานเหล่านี้โดยมากแล้วจะให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่างานทั่วไป   ทำให้แรงงานในภาคส่วนเหล่านี้มีรายได้มากขึ้น และสามารถนำรายได้ที่เหลือจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ไปใช้ในการบริโภคสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ในประเทศ เท่ากับเป็นการกระตุ้นความต้องการในประเทศได้อีกทางหนึ่ง) 

ผู้รู้ของเรากล่าวต่อไปว่า การที่ภาครัฐจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องอาศัยระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ  และจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านให้ขยายตัว   รวมทั้งส่งเสริมการแข่งขันในภาคบริการให้สูงขึ้น ซึ่งอาจทำได้ด้วยการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้อย่างเสรีมากขึ้น   ผมแอบคิดในใจว่า พี่พอลของเรานี่ก็ทันสมัยไม่ใช่เล่น   ขนาดเพิ่งว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรมาหยก ๆ ท่านยังมีเวลาไปอ่านรายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกที่ชื่อ Investing Across Borders   (เพราะเรื่องการแข่งขันในภาคบริการที่ท่านอ้างถึงนั้นก็มาจากรายงานฉบับดังกล่าวนี่เอง)

ก่อนจากกัน ผมแสดงความขอบคุณผู้รู้ชาวต่างชาติของเราที่กรุณาสละเวลามาให้คำปรึกษาแก่ทีมงานของธนาคารโลก   ผมบอกพอลว่า แม้ผมจะเข้าใจความหมายของการเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้กับการว่ายน้ำด้วยหนวดเส้นเดียวที่พอลใช้   แต่ในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยที่ทีมงานของเรากำลังจะจัดพิมพ์เผยแพร่นั้น ผมจะขอใช้การเปรียบเทียบที่มนุษย์อย่างผมเข้าใจได้ง่ายกว่า นั่นก็คือการเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยกับอากาศยานซึ่งกำลังเหินฟ้าด้วยเครื่องยนต์เพียงเครื่องเดียว    เมื่อไหร่ก็ตามที่เครื่องยนต์ดังกล่าวขัดข้อง แอร์ไทยแลนด์ก็คงวิ่งต่อไปไม่ได้   ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีให้เครื่องยนต์ที่เหลือใช้การได้ เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับเครื่องยนต์ที่ชื่อการส่งออก   อย่างน้อยแอร์ไทยแลนด์ก็ยังมีเครื่องยนต์อื่นๆ มาเสริมทัพ

พอลพยักหน้าหงึก ๆ เชิงว่าเข้าใจ ก่อนที่จะกระโดดลงน้ำเพื่อเดินทางไปสู่นัดครั้งต่อไปของเขาอย่างมาดมั่น   ...ผมมองตามไปจนร่างของพอลหายลับไปกับแนวคลื่น   โดยไม่ลืมที่จะสังเกตว่า ผู้รู้ของเราใช้หนวดทุกเส้นในการแหวกว่าย....


Authors

Frederico Gil Sander

Practice Manager, Global Macroeconomics and Debt

Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000