เพศสถานะในโรงเรียนไทย: เราเติบโตมาในแบบที่เราได้รับการสั่งสอนในโรงเรียนหรือไม่?

This page in:
ขณะที่ฉันรอสัมภาษณ์คุณครูท่านหนึ่งที่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลในประเทศไทย ภาพโรงอาหารในช่วงพักกลางวันทำให้ฉันหวนนึกถึงวันเวลาในวัยเด็ก ระหว่างนั้นฉันมีโอกาสพูดคุยและถามเด็กนักเรียนสองสามคนไปพลางๆ ว่าโตขึ้นพวกเขาอยากเป็นอะไร เด็กผู้ชายคนหนึ่งตอบว่า “ผมอยากเป็นหมอครับ” และเด็กผู้หญิงอีกคนตอบว่า “หนูอยากเป็นพยาบาลค่ะ” คำตอบของเด็กๆ ชวนให้ฉันคิดว่าค่านิยมทางเพศนั้นมีบทบาทขึ้นในชีวิต เมื่อตอนที่เราอายุยังน้อยขนาดนี้เลยหรือ
 
ครอบครัวและโรงเรียนเป็นสถาบันหลักของเด็กๆ ในการเรียนรู้เกี่ยวกับบรรทัดฐานต่างๆ ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่ๆ เด็กๆ จะได้เรียนรู้วิธีการเข้าสังคม ค่านิยมต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งรวมถึงเรื่องเพศสถานะด้วย
 
ในความเชื่อของหลายคน โรงเรียนนั้นมีอิทธิพลอย่างสูงในการสร้างค่านิยมเรื่องเพศ และที่ผ่านมานั้นงานวิจัยเชิงประจักษ์ในประเทศไทยยังมีไม่มากพอที่จะสร้างความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับประเด็นนี้
 
ในปีที่ผ่านมาคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานกิจการสตรี (PCWA) ได้ดำเนินโครงการศึกษา 2 โครงการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ และธนาคารโลก เพื่อสร้างงานวิจัยเชิงประจักษ์ในเรื่องของเพศสถานะในระบบการศึกษาไทย โดยมีจุดมุ่งหมายในสนันสนุนหรือกำจัดสมมติฐานต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องกรอบความคิดและอคติทางเพศว่ามีการการเรียนรู้ การสอน การแบ่งปัน หรือ การถ่ายทอดอย่างไรในประเทศไทย 
 
รายงานการศึกษาแรกใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อตรวจสอบแบบเรียนและบ่งชี้บทบาททางเพศว่ามีการรับรู้หรือแสดงออกมาในหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างไร ส่วนรายงานการศึกษาที่สองใช้การวิจัยเชิงปริมาณแบบตัดขวาง โดยเน้นไปที่หัวข้อเกี่ยวกับ
 
(1) การใช้พื้นที่และกีฬา
(2) การเลือกสีและกิจกรรมนอกชั้นเรียน
(3) ความเป็นผู้นำของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง
(4) ความถนัดการรับรู้ทางวิชาการ
(5) ลักษณะนิสัยที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนาที่รับรู้ของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง
 
จากการศึกษาพบว่าค่านิยมและความเชื่อที่ฝักลึกเกี่ยวกับความแตกต่างทางเพศได้ซึมผ่านไปทั่วระบบของโรงเรียน
 
Image

แม้ว่าเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงที่อายุน้อยว่าในระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาต้อนต้นยังไม่ได้สร้างอัตลักษณ์ทางเพศอย่างชัดเจน แต่กระนั้นอคติทางเพศในมุมต่างๆ ได้ก่อตัวผ่านวิถีปฏิบัติและหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน ค่านิยมทางสังคมว่าด้วยเรื่อง ความเป็นชาย และ ความเป็นหญิง นั้นถูกส่งผ่านและสามารถเห็นได้จากทัศนคติและความเชื่อของคุณครู ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ และยังได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากสื่อ แบบเรียน โรงเรียน และการปฏิบัติของผู้ปกครอง อีกด้วย
 
ค่านิยมทางเพศที่หยั่งรากลึกจึงเป็นปัจจัยผลักดันความไม่เท่าเทียมกันทางเพศของสังคมในปัจจุบัน แม้ว่าเด็กผู้หญิงไทยมีจำนวนมากกว่าและมีผลการเรียนที่ดีกว่าเด็กผู้ชายในชั้นเรียน แต่ความสำเร็จเหล่านี้ ไม่ได้บ่งบอกหรือช่วยให้เด็กผู้หญิงมีโอกาสการทำงาน หรือ ได้ค่าจ้างที่ดีกว่า รวมไปถึงโอกาสการก้าวหน้าเพื่อเป็นผู้บริหารระดับสูงทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย
 
ผลการศึกษาที่น่าสนใจและ อินโฟกราฟฟิคมีดังนี้
 
แบบเรียนและหลักสูตร – ในแบบเรียนจำนวน 538 เล่มที่ได้สุ่มเลือกเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า มีการนำเสนอเพศชายในจำนวนที่มากกว่า ทั้งนี้เพศหญิงจะถูกนำเสนอในระดับที่ต่ำกว่าเพศชาย อาทิ บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ และ กิจกรรมต่างๆ ผู้ชายจะมีภาพของความเป็นผู้นำและในบทบาทอาชีพต่างๆ (พระราชา นักปรัชญา แพทย์) ในขณะที่ผู้หญิงจะถูกจำกัดด้วยหน้าที่ของภรรยา และบทบาทที่ดูด้อยกว่าในสังคม
 
ความเป็นผู้นำของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง – ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มความเชื่อที่ว่าเด็กผู้หญิงมีความสามารถโดยธรรมชาติในการเป็นผู้นำด้อยกว่าผู้ชาย เด็กผู้ชายจึงมีภาพของความแน่วแน่ ความกล้าหาญ และ ความมีน้ำใจ ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะถูกมองว่าเป็นคนประณีประนอม ละเอียดอ่อน และยืดหยุ่น
 
ความถนัดทางวิชาการ – ในขณะที่คุณครูอาจแสดงออกมาว่าเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงไม่มีความแตกต่างโดยกำเนิดในด้านความถนัด หรือ ความสามารถต่างๆ แต่เด็กผู้หญิงยังคงถูกมองว่ามีความสามารถในการเรียนรู้ด้อยกว่าเด็กผู้ชายในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
 
ลักษณะนิสัยที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนาของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง – คุณครูคนไทยคาดหวังว่าเด็กผู้หญิงจะต้องมี ‘ความประพฤติที่เหมาะสม’ และแสดงออกอย่าง ‘สุภาพ’ อย่างที่สังคมไทยคาดหวังให้เป็น ในขณะที่เด็กผู้ชายสามารถเล่นคึกคะนอง พูดจาด้วยคำหยาบคาย หรือแสดงออกอย่างก้าวร้าวได้ในบางครั้ง
 
ทั้งหมดนี้จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า เราเติบโตมาในแบบที่เราได้รับการสั่งสอนในโรงเรียนหรือไม่? เนื่องจากโรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะที่สุดในการปลูกฝังเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ ฉะนั้นแล้วเราจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งใดบ้าง ?
 
เราเชื่อว่าเจตจำนงทางการเมืองนั้นคือปัจจัยสำคัญ ในขณะเดียวกัน การอบรมครูผู้สอนและการปรับปรุงแบบเรียนก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการขจัดวิธีการนำเสนอภาพของเพศชายและเพศหญิงที่ไม่เท่าเทียม ทั้งนี้ บุคลากรทุกคนของโรงเรียนควรให้ความร่วมมือ พร้อมดำเนินโครงการอบรมผู้ปกครองเพื่อช่วยให้โรงเรียนเป็นสถานที่ๆ มีความเท่าเทียมกันทางเพศอย่างสมบุรณ์

Authors

Pamornrat Tansanguanwong

Senior Social Development Specialist

Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000