ทุกครั้งที่ผมทราบข่าวว่ามีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้น ผู้คนบาดเจ็บเสียชีวิต บ้านเรือนพังเสียหาย ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ประสบภัยต้องเปลี่ยนแปลงไป ผมรู้ว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยลดผลกระทบอันน่าสลดใจนี้ แทนที่จะรอให้มันเกิดขึ้นอีก
เรามีโอกาสจะผลักดันเรื่องนี้ในการประชุมนานาชาติเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่จัดขึ้นปีนี้ ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงานกรอบการดำเนินงานเฮียวโกะ ระยะที่ 2 (Hyogo Framework for Action-HFA2) ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติแก่ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับนานาชาติ การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่จะตั้งเป้าหมายในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและต่อสู้กับความยากจนอีกด้วย
ภัยพิบัติจากธรรมชาติมีมูลค่าความเสียหายมหาศาล ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2 ล้าน 5 แสนคน และสร้างความสูญเสียเป็นมูลค่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบให้การพัฒนาชะงักลง
ในภูมิภาคเอเชีย การพัฒนาเขตเมืองอย่างรวดเร็วผนวกกับการวางผังเมืองยังไม่มีคุณภาพได้เพิ่มความเสี่ยงให้เมืองต่าง ๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมืองที่ตั้งอยู่แถบชายฝั่งและลุ่มแม่น้ำที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนได้คร่าชีวิตผู้คนกว่า 7,350 คนในฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2556 แล้วยังส่งผลโดยตรงให้ความยากจนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2
ทุกวันนี้ เรามีเครื่องมือที่ช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เช่น ระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียซึ่งติดตั้งหลังเกิดภัยพิบัติเมื่อปี 2547 ซึ่งสามารถส่งสัญญาณเตือนไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติภายใน 10 นาทีเมื่อเกิดแผ่นดินไหว และช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตใน 28 ประเทศ
รายงานของธนาคารโลกซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมและระบบแผนที่ภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ (Geospatial) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดินในเอเชียซึ่งเป็นข้อมูลที่ช่วยแนะนำแนวทางการวางผังเมืองและการตัดสินใจลงทุน
โดยสรุปแล้ว ภารกิจอันใหญ่หลวงว่าด้วยการวางรากฐานเพื่อตั้งรับพิบัติจากธรรมชาตินั้นเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐบาล ชุมชน ประชาคมนานาชาติ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ทุกภาคส่วน
โครงการริเริ่มการประเมินความเสี่ยงและจัดสรรเงินเพื่อมหันตภัยแห่งแปซิฟิก (Pacific Catastrophe Risk Assessment and Financing Initiative - PCRAFI) ภายใต้ความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่น สำนักงานเลขาธิการประชาคมแปซิฟิก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย และธนาคารโลก กองทุนโลกเพื่อลดความเสี่ยงและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ (Global Facility for Disaster Reduction and Recovery - GFDRR) และสหภาพยุโรป ได้ร่วมกันรวบรวมข้อมูลภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ (geospatial) ด้านความเสี่ยงจากภัยพิบัติไว้มากที่สุดสำหรับกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก
ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์แก่โครงการนำร่องด้านการประกันความเสี่ยงในแปซิฟิก ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนระดับภูมิภาคที่ช่วยให้ประเทศที่เข้าร่วมโครงการได้รับเงินประกันชดเชยความเสียหายอันเกิดจากแผ่นดินไหว สึนามิ และพายุหมุนเขตร้อนจากกลุ่มบริษัทประกันภัยนานาชาติ เมื่อปี 2556 ตองกาเป็นประเทศแรกที่ได้รับเงินประกันภัยจำนวน 1,270,000 เหรียญสหรัฐฯ อย่างรวดเร็วเพื่อบรรเทาความเสียหายจากพายุไซโคลนเอียนทันที
ในขณะเดียวกัน โครงการต่างๆ เพื่อการพัฒนาและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามกำลังช่วยให้ชุมชนหลายร้อยแห่ง โดยการปรับปรุงให้ชุมชนการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่น และช่วยเสริมศักยภาพของชุมชนในการปรับตัวรับภัยพิบัติในระยะยาวด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า การวางเส้นทางการอพยพ และการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน
ธนาคารโลกเองก็เพิ่มความพยายามในการสร้างความต้านทานจากภัยพิบัติผ่านโครงการของเรา นับตั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นมา ทุกโครงการของธนาคารโลกต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ รวมทั้งต้องมีแนวทางการลดผลกระทบจากภัยพิบัติจากผลการวิเคราะห์นั้น
อีกหลายทศวรรษที่จะมาถึงนี้ การปรับตัวรับภัยพิบัติควรเป็นพันธกิจที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม มิใช่เพียงคำที่พูดกันติดปากในแวดวงนักพัฒนา ไม่มีเมืองไหนที่เหมาะสมไปกว่าเมืองเซนไดที่จะช่วยให้เราตระหนักถึงความเร่งด่วนและประโยชน์จากการลงทุนเพื่อปรับตัวตั้งรับภัยพิบัติอย่างเต็มที่
อ่านต่อที่ Building a New Framework for Disaster Risk Reduction
Join the Conversation