ชุมชนหลังน้ำท่วม: สร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยลำแข้งของตัวเอง

This page in:

เมื่อปี 2554 ประเทศไทยประสบภัยพิบัติน้ำท่วมที่เลวร้ายที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ วิกฤตนี้ส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 13 ล้านคน บ้านเรือนราว 97,000 หลังเสียหาย หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านและในตัวเมืองต้องจมอยู่ในน้ำเป็นเดือนๆ

บ้านในจังหวัดอยุธยาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2554
บ้านในจังหวัดอยุธยาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมปี 2554

สามปีต่อมา ประเทศไทยสามารถผ่านเรื่องเลวร้ายนี้ไปได้ แต่บางครัวเรือนที่ถือได้ว่ายากจนที่สุดนั้นยังคงต้องดิ้นรนที่จะฟื้นฟูตัวเอง เราเดินทางไปยังชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 10 แห่งในอยุธยา และนครสวรรค์ ภายใต้การดำเนินงานในโครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง (ภาษาอังกฤษ) บนกำแพงบ้านยังมีคราบน้ำให้เห็น เพดานถูกทำลาย และโครงสร้างบ้านก็โคลงเคลง เห็นได้ชัดว่า ยังมีบ้านเรือนที่ยังไม่ได้ซ่อมแซม แต่ที่เห็นได้ชัดเหมือนกัน ก็คือ พลังที่เข้มแข็งของชุมชนที่นั่น ทำให้เราตระหนักได้ว่า ชาวบ้านต่างรวมใจกันฟันฝ่าภัยพิบัติธรรมชาติอันเลวร้ายที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยได้พบประสบเจอในชีวิต

น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านในระแวกที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ ได้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ดีขึ้น ซึ่งทางเทศบาลได้ดำเนินการนำร่องไปแล้ว แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ภัยพิบัตินี้ยังได้ระดมพลังพลเมืองธรรมดาๆ ในชุมชนที่มีความยากไร้สูงนี้ด้วย นี่คือเรื่องราวบางส่วนของพวกเขา

คุณสมนึก นิยาย จากชุมชนเทวดาสร้าง จังหวัดนครสวรรค์ เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักในชื่อ “นักดำน้ำประจำชุมชน” ในช่วงน้ำท่วมปี 2554 วาล์วที่อยู่ใต้น้ำถูกเปิดโดยกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก พอวาล์วเปิดทิ้งไว้ ของเสียก็ไหลลงน้ำที่ท่วมอยู่ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ชุมชนแย่หนักลงไปอีก เขาจึงดำน้ำลงไปลึกกว่าสองเมตรเพื่อปิดวาล์ว หลังจากนั้นชาวบ้านนระแวกอื่นๆ ก็ขอให้สมนึกมาช่วยบ้าง

คุณวัฒนา ประสาทน้ำเงิน จากชุมชนวัดเขา เล่าให้เราฟังถึงการใช้เรือของเขาช่วยเหลือเพื่อนบ้าน

“ผมปลอดภัยดีแต่เพื่อนบ้านไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมอยากช่วยเพราะพวกเราประสบความยากลำบากเหมือนกัน” เขาอธิบาย

คุณปาณิสรา มาลาเพชร บอกว่าสำนึกความเป็นชุมชนก็แข็งแกร่งขึ้น และช่วยให้พวกเขารอดชีวิตไปด้วยกัน “ตอนนี้ทุกบ้านต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ต่างคนต่างพร้อมออกความคิดเห็น และต่างบอกว่าพวกเขาพร้อมจะช่วยอะไรได้บ้าง”

คุณสมนึก คุณวัฒนา และคุณปาณิสรา ได้กลายเป็นผู้นำชุมชน พวกเขาต้องการช่วยเพื่อนบ้านของเขาในการจัดการภัยพิบัติในอนาคตด้วยตัวเอง และชดเชยสิ่งที่เคยสูญเสียไป ตอนแรกพวกเขาได้เสนองแผนงานฟื้นฟู และหาทุนอยู่ แต่ทางเทศบาลไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะครอบคลุมความต้องการของชุมชนทั้งหมด

ตอนนี้พวกเขากำลังจะเป็นสมาชิกคณะกรรมการชุมชนที่มีอยู่แล้วกว่า 250 คน เพื่อทำการพัฒนาปรับปรุงที่อยู่อาศัย และยื่นข้อเสนอสำหรับโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กสำหรับชุมชนของพวกเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง นี่เป็นการริเริ่มร่วมกันระหว่างธนาคารโลก และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

จากซ้ายไปขวา: คุณปริสรา นายวัฒนา นายสมนึก และผู้นำชุมชนคนอื่นในจังหวัดนครสวรรค์
จากซ้ายไปขวา: คุณปาณิสรา คุณวัฒนา คุณสมนึก และผู้นำชุมชนคนอื่นในจังหวัดนครสวรรค์

คุณสมนึก คุณวัฒนา และคุณปาณิสรา จะได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่ของ พอช. หลังจากที่ชุมชนของพวกเขาได้รับการคัดเลือกจากกระบวนการเลือกที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งประกาศผลไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2557 หลังการอบรม พวกเขาจะเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาโครงการที่จะช่วยสร้างระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ดีขึ้นให้กับชุมชน นอกจากนั้นยังจะช่วย ‘จัดลำดับผู้ได้รับประโยชน์’ ให้กับครอบครัวหรือบุคคลที่ไม่สามารถฟื้นฟูหลังน้ำท่วมได้ โดยผ่านการยินยอมจากชุมชน

การดำเนินงานของโครงการนี้ขึ้นอยู่กับ พอช. ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วกับวิธีการทำงานร่วมกับองค์กรชุมชน ซึ่งได้ช่วยชุมชนยากจนมีความเข้มแข็งขึ้น และทำให้พวกเขาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเอง พอช. เป็นองค์กรอิสระมหาชน สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งได้ช่วยเหลือองค์กรชุมชนต่างๆ โดยการสนับสนุนการฟื้นฟูบ้านเรือน และความเป็นอยู่ของผู้คนในตัวเมืองและชนบทมาตั้งแต่ปี 2535

“เรารวมใจผู้คนเข้าด้วยกัน” คุณณรงค์ กฤดิขจรกรกุล เจ้าหน้าที่และผู้ประสานงานในจังหวัดนครสวรรค์กล่าว

“ชุมชนจะระดมความคิดว่าต้องการอะไรและมีความจำเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าหลังจบโครงการนี้ เราจะเห็นสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งได้เกิดขึ้นแล้ว”

“ถ้าทรัพยากรมีอย่างจำกัด คุณต้องระดมความคิดที่จะทำให้สิ่งที่มีอยู่เกิดประโยชน์มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนจะต้องรู้จักแสดงฉันทามติเวลาเลือกซ่อมแซมบ้านสักหลัง เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกอย่างต้องถูกใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม”

โครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมืองได้เปิดโครงการในเดือนตุลาคม 2556 โดยช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่และผู้นำชุมชนจะได้รับการอบรมและเริ่มดำเนินการพัฒนาโครงการย่อยชิ้นแรก

คุณมีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับอาสาสมัคร ผู้เตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในอนาคตด้วยตัวเอง ที่คุณอยากจะแบ่งปันหรือไม่?


Authors

Flavia Carbonari

Social development specialist

Join the Conversation

The content of this field is kept private and will not be shown publicly
Remaining characters: 1000